หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน, ดร. » การศึกษาวิเคราะห์บทบาทของเทวดาที่ปรากฏในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก
 
เข้าชม : ๑๐๓๑๗ ครั้ง

''การศึกษาวิเคราะห์บทบาทของเทวดาที่ปรากฏในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก''
 
พระมหาศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน, ดร. (2556)

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพและบทบาทของเทวดารวมทั้งท่าทีที่พึงมีต่อเทวดาและศึกษาเปรียบเทียบท่าทีต่อเทวดาของพระสงฆ์และฆราวาสในเขตจังหวัดอุบลราชธานี การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัย ๒ อย่าง คือ การวิจัยเอกสาร ศึกษาจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกเป็นหลัก และการวิจัยภาคสนาม แจกแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสังฆาธิการ ๑๐๐ รูป และฆราวาส ๒๐๐ คนที่เป็นทายกทายิกาประจำวัดของพระสังฆาธิการโดยแจกฆราวาส ๒ คนต่อ ๑ วัด

ผลการศึกษาภาคเอกสารพบว่า คำว่าเทวดาเป็นคำเรียกสิ่งที่มนุษย์เคารพนับถือ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ (๑) เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชาและสมาชิกในพระราชวงศ์           (๒) เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ ผู้ที่บังเกิดเป็นเทวดาสถิตบนสวรรค์ด้วยผลแห่งความดี และ           (๓) เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ ผู้หมดจดปราศจากกิเลสตัณหา เช่น พระพุทธเจ้าและ        เหล่าอริยสาวก ในงานวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะเทวดาโดยกำเนิด ซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์กามาพจร         ๖ ชั้น กล่าวคือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ตามลำดับ การบังเกิดเป็นเทวดาเป็นผลจากการทำความดี โดยเฉพาะการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และใจ และการให้ทาน เทวดามีคุณสมบัติสำคัญ ๔ ประการ คือ มีอายุยืน มีรูปร่างผิวพรรณงดงามยิ่ง มีความสุขอันเป็นทิพย์เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ และมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เทวดาในสวรรค์กามาพจรทั้ง ๖ ชั้น มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับมนุษย์สรุปได้เป็น ๒ ด้าน คือ บทบาทด้านบวกและบทบาทในด้านลบ

บทบาทในด้านบวกนั้น ได้แก่ การคอยสอดส่องดูแลและการช่วยเหลือมนุษย์ที่บำเพ็ญคุณความดีสมควรได้รับการช่วยเหลือ และการมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือเหล่า            พระอริยเจ้าเพื่อฟังธรรมหรือถามปัญหาต่าง ๆ ส่วนบทบาทในด้านลบของเทวดานั้นมักปรากฏตัวในรูปของมารเพื่อมาขัดขวางหรือรบกวนให้เสียความตั้งใจในการทำความดี ส่วนผู้ที่จิตใจมั่นคง เช่น พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยเจ้านอกจากจะไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมารแล้วยังรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของมารจนทำให้มารต้องพ่ายแพ้กลับไปอีกด้วย

มนุษย์ควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเทวดา ๔ ประการ คือ (๑) ทำเทวตาพลี คือ อุทิศ        ส่วนกุศลแก่เทวดา (๒) เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา (๓) เจริญเมตตาต่อเทวดา และ (๔) อัญเชิญเทวดามาร่วมทำความดี เช่น ฟังธรรม

                  ผลการศึกษาภาคสนามพบว่าพระสังฆาธิการส่วนใหญ่มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเทวดาและมีท่าทีที่เหมาะสมต่อเทวดา แต่อาจมีบางประเด็นที่เข้าใจผิดจากหลักการเดิมบ้าง เช่น เห็นว่าเทวดาอยู่ในภาวะที่ประเสริฐกว่ามนุษย์ ซึ่งความจริงแล้ว แม้เทวดาอยู่ในภูมิที่ดีกว่ามนุษย์ แต่เทวดาก็ไม่ฉลาดไปกว่ามนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่เทวดาพากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมหรือถามปัญหาที่ลึกซึ้งเสมอ และอีกประเด็นหนึ่ง คือ เห็นว่าสวดชุมชุมเทวดาเพื่อให้เทวดามาปกปักรักษา ซึ่งความจริงแล้ว การสวดชุมชุมเทวดาเพื่อให้เทวดามาร่วมฟังธรรมด้วยกัน ส่วนฆราวาสพบว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้องและท่าทีที่เหมาะสมต่อเทวดาน้อยกว่าพระสังฆาธิการ เช่น เข้าใจว่าเทวดาอยู่ในภาวะประเสริฐกว่ามนุษย์ถึงร้อยละ ๗๖ ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้ว และเห็นว่าการแสดงความเคารพสถานที่ทางธรรมชาติต่าง ๆ  เช่น ต้นไม้ใหญ่ ขุนเขา แม่น้ำ เป็นสิ่งไม่ถูกต้องร้อยละ ๖๕ ซึ่งความจริงการแสดงความเคารพยำเกรงสถานที่ทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำเพราะมีเทวดาสถิตอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่พระสังฆาธิการมีความเข้าใจและท่าทีที่ถูกต้องต่อเทวดาดีกว่าฆราวาสก็ถือเป็นเรื่องปกติเพราะพระสังฆาธิการมีโอกาสศึกษาคัมภีร์ทางศาสนามากกว่าและมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเผยแผ่หลักการที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น

 

Abstract

 

The objectives of this research were to study the status and roles of Deva including the attitude towards Deva, and to compare the attitude towards Deva expressed by the ecclesiastical administrative monks and lay people in Ubonratchathani province. This research was carried out by means of the documentary research mainly based on Suttantapitaka and the field research by using on the questionnaires given to 100 administrative monks and 200 lay followers from monasteries of the administrative monks.

For the documentary research, it is found that ‘Deva’ refers to those worshipped by humans. There are three kinds of the Deva: (1) gods by convention, i.e. the king and his royal family members, (2) gods by spontaneous birth on a heaven because of good deeds, and (3) gods by purification such as the Buddha and the noble disciples. This research mainly focused on the gods in the six sensual heavens, i.e. Catumaharajika, Tavatimsa, Yama, Tusita, Nimmanarati, and Paranimmitavasavatti. One was born as a Deva through good deeds, especially bodily, verbal and mental good conducts and dana giving. A Deva possesses four qualities, i.e. long livelihood, splendid beauty, divine sensual happiness, and supernatural power. Gods in the six sensual heavens play a major role with humans both in positive and negative roles.  

Gods played a positive role by keeping their eyes over a good man and rendering a due help. They paid a visit to the Buddha and noble disciples as to listen to their teachings and as to ask questions. Gods who play a negative role usually appeared in form of ‘Mara’, an evil one, as to obstruct or disturb a man while doing good deeds. However, they could not cheat or control those whose minds are still such as the Buddha and noble disciples under their power.

A man should bear the right practices on Devas by means of (1) dedication of merits, (2) reflection on deifying virtues, (3) transference of loving-kindness, and (4) invitation of gods to do good together such as listening to the Dhamma. 

For the field research, it revealed that most of the administrative monks have a right understanding and attitude towards the Deva, though there are some wrong views, for example, they regard the Deva as one of higher position than humans. But this is not applicable for Deva’s intelligence, since gods visited and sought advice from  the Buddha. Some administrative monks also believed that while chanting, they invited the Devas as to come and protect people. In fact, the chanting of inviting the Devas is only for welcoming them to listening the Buddha’s teachings. For the lay followers, they comparatively have less right understanding than the administrative monks. For example, 76% of the respondents believed that the Deva is of a higher position than the human. And 65% of the respondents believed that it is not right for paying respects to the natural resources such as a huge tree, mountain, and river. In fact, the Buddha prescribed paying respects to those natural resources since a Deva might be therein. Since the administrative monks have more good chances to study the Buddhist texts and take actions in propagation of the doctrine to people, they advance the lay followers for their right understanding and attitude towards the Deva.

 

บทนำ

 

                  เรื่องเทวดาเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกศาสนาได้กล่าวถึง แต่ชื่อที่ใช้เรียกและระดับความสำคัญของเทวดาในแต่ละศาสนาอาจแตกต่างกัน เช่น เรียกว่าภูติผีปีศาจบ้าง พระเจ้าบ้าง พระพรหมบ้าง เทพเจ้าบ้าง บางศาสนานับถือหลายองค์ บางศาสนานับถือเพียงองค์เดียว เทวดาในบางศาสนามีฤทธิ์เดชมากและอาจเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์เสมอ ในขณะที่เทวดาในบางศาสนามีอำนาจจำกัดและอาจอยู่ห่าง ๆ ปล่อยให้มนุษย์ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ไปตามอัธยาศัย เมื่อสถานะและบทบาทของเทวดาในแต่ละศาสนาแตกต่างกัน ท่าทีหรือวิธีปฏิบัติต่อเทวดาในแต่ละศาสนาก็ย่อมต่างกันด้วย เช่น ศาสนาที่ถือว่าเทพเจ้ามีฤทธิ์เดชหรืออำนาจเหนือกว่ามนุษย์ ก็จะสอนให้มนุษย์เคารพยำเกรงและสยบยอมต่ออำนาจของเทพเจ้านั้น เพราะเชื่อว่าชะตาชีวิตได้ถูกลิขิตไว้แล้ว จะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของเทพเจ้า หากใครต้องการความสุขความเจริญก็ควรทำตัวให้เทพเจ้าพอใจ  

      พระพุทธศาสนายอมรับการมีอยู่ของเทวดา ดังในคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมหลักคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาได้บันทึกเรื่องราวของเทวดาไว้มากมาย และคัมภีร์ที่กล่าวถึงเทวดามากเป็นพิเศษคือพระสุตตันตปิฎก โดยเฉพาะในหมวดสังยุตตนิกายเล่มที่ ๑๕ ซึ่งบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเทวดาไว้อย่างวิจิตรพิสดาร ด้วยเหตุนี้ การศึกษาวิเคราะห์เรื่องราวของเทวดาที่ปรากฏในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้ทราบถึงสถานะและบทบาทของเทวดา พร้อมทั้งท่าทีที่พึงมีต่อเทวดา อันจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับใช้พิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้ความเข้าใจต่อเทวดาของพระสงฆ์และฆราวาสซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป

 

วิธีการวิจัย

 

การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัย ๒ อย่าง คือ (๑) การวิจัยเอกสาร โดยศึกษาจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกเป็นหลัก และ (๒) การวิจัยภาคสนาม โดยการแจกแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสังฆาธิการ ๑๐๐ รูป และฆราวาส ๒๐๐ คนที่เป็นทายกทายิกาประจำวัดของพระสังฆาธิการ ๒ คนต่อ ๑ วัดในเขตจังหวัดอุบลราชธานี  

 

ผลการวิจัย

               

                  จากการศึกษาพบว่า หากพิจารณาตามรูปศัพท์ คำว่า เทวดา มี ๒ ความหมาย คือ (๑) ผู้เล่นสนุกด้วยกามคุณ ๕ และ (๒) ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ[1]  หากพิจารณาตามความเชื่อ คำว่าเทวดา หมายถึง สิ่งใด ๆ ก็ตามที่คนนับถือหรือบูชา[2] เทวดาแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ (๑) เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชาและสมาชิกในพระราชวงศ์ (๒) เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ ผู้ที่บังเกิดเป็นเทวดาสถิตบนสวรรค์ด้วยอานิสงส์แห่งความดี และ (๓) เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ ผู้หมดจดปราศจากกิเลสตัณหา เช่น พระพุทธเจ้าและเหล่าอริยสาวก[3]  ในงานวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะเทวดาประเภทที่ ๒ คือ เทวดาโดยกำเนิดซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์กามาพจร ๖ ชั้น กล่าวคือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ตามลำดับ

                  สวรรค์อันเป็นสถานที่สถิตของเหล่าเทวดาแต่ละชั้นแม้จะเป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์เพราะเพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันเป็นทิพย์ แต่คุณภาพของความประณีตต่างกันไปตามอำนาจของบุญกุศลที่เทวดาแต่ละองค์ได้สั่งสมไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตในโลกมนุษย์ และที่อยู่อาศัยส่วนตัวของเทวดาแต่ละองค์ในสวรรค์คือวิมาน ซึ่งวิมานของเทวดาแต่ละองค์จะมีความเพียบพร้อมหรือวิจิตรพิสดารขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณของบุญกุศลที่ได้สั่งสมไว้ เช่น อาจทำบุญให้ทานเหมือนกัน คนหนึ่งให้สิ่งที่ด้อยคุณภาพกว่าและให้ด้วยสภาพจิตใจที่ไม่ผ่องใส ก็จะได้วิมานที่ไม่วิจิตรพิสดาร ในขณะที่อีกคนหนึ่งให้ทานด้วยสิ่งของที่ประณีตกว่าและให้ด้วยสภาพจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธากว่า ก็จะได้วิมานที่สมบูรณ์เพียบพร้อมและวิจิตรพิสดารกว่า[4] โดยทั่วไป วิมานของเทวดาผู้เป็นหัวหน้าในสวรรค์แต่ละชั้นย่อมเพียบพร้อมและงดงามกว่าวิมานของเทวดาที่เป็นเพียงสมาชิกในสวรรค์ชั้นนั้น ๆ เช่น วิมานของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชดีกว่าวิมานของเทวดาอื่น ๆ ในสวรรค์ชั้นเดียวกันทั้งโดยคุณภาพและปริมาณ

      การบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์แต่ละชั้นเป็นผลจากกรรมหรือการกระทำที่ดีส่งผลให้เมื่อสิ้นชีวิตลง โดยการกระทำนั้นในภาพรวม ได้แก่ การประพฤติชอบ ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และใจ ซึ่งทำได้โดยการรักษาหรือสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ (อุโบสถศีล) หรือการให้ทาน ด้วยวัตถุทาน ๑๐ ประการ (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน) คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีป  หากประสงค์จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นไหนก็ตั้งจิตอธิษฐานให้มั่นคงที่จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้น ๆ แม้แต่การที่ผู้หญิงที่เบื่อหน่ายไม่ต้องการเป็นเทวดาผู้หญิงอีกต่อไป อยากจะเป็นเทวดาผู้ชาย ก็ให้หมั่นบำเพ็ญคุณความดีและตั้งจิตอธิษฐานให้ได้เกิดเป็นเทพบุตรได้[5] อย่างไรก็ตาม แม้การบังเกิดเป็นเทวดาจะมีความเป็นทิพย์และมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือกว่ามนุษย์ แต่มนุษย์ก็เหนือกว่าเทวดาใน ๓ ด้าน คือ แกล้วกล้ากว่า มีสติดีกว่า และมีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์มากกว่า[6]

คุณสมบัติที่โดดเด่นของเทวดาสามารถประมวลได้ ๔ ประการ คือ

๑. มีอายุยืน โดยเทวดาชั้นจาตุมหาราช มีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ เทวดาชั้นดาวดึงส์  มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ เทวดาชั้นยามา  มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ เทวดาชั้นดุสิต มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์  เทวดาชั้นนิมมานรดี มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์

๒. มีผิวพรรณและรูปร่างงดงามยิ่ง ไม่มีความพิกลพิการหรือความเจ็บป่วย เกิดแล้วก็อยู่ในวัยหนุ่มสาวเหมือนคนอายุ ๑๖-๑๗ ปีทันที และคงอยู่ในวัยเช่นนี้ไปจนกว่าจะจุติ (ตาย)

๓. เพียบพร้อมด้วยความสุข โดยเฉพาะความสุขในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันเป็นทิพย์ ชวนให้ใคร่ ชวนให้หลงไหล[7]

๔. มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปได้ตามปรารถนา แม้เทวดาจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเหนือมนุษย์เหล่านี้ เพราะอานิสงส์แห่งคุณความดีที่เคยสั่งสมไว้ หากมีสติปัญญารู้ไม่เท่าทัน สิ่งเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นโทษให้ต้องจุติก่อนเวลาอันควรได้ ดังมีตัวอย่างเทวดาที่อิจฉาริษยาสมบัติของเทวดาองค์อื่นทำให้โกรธจัดจนต้องจุติไป หรือมัวแต่เสพเสวยกามคุณ ๕ จนลืมวันลืมคืนทำให้ร่างกายซูบซีดเพราะขาดอาหารก็ทำให้ต้องจุติไปภายในเวลาไม่นาน ที่เป็นดังนี้ เพราะว่าเทวดายังไม่ปราศจากกิเลสตัณหา ยังมีรัก โลภ โกรธ หลง จึงยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปจนกว่าจะสามารถเป็นอิสระจากกิเลสตัณหาเหล่านี้ได้เด็ดขาด

ส่วนบทบาทของเทวดาในสวรรค์กามาพจรทั้ง ๖ ชั้นนั้น เริ่มที่เหล่าเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชนำโดยหัวหน้าเทวดา ๔ องค์ซึ่งเรียกว่าท้าวจตุโลกบาล เพราะเป็นผู้คอยดูแลรักษาโลกทั้ง ๔ ทิศ ได้แก่ (๑) ทิศตะวันออก มีท้าวธตรฐเป็นผู้ดูแล โดยมีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร (๒) ทิศใต้ มีท้าววิรุฬหกเป็นผู้ดูแล โดยมีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร (๓) ทิศตะวันตก มีท้าววิรูปักษ์เป็นผู้ดูแล โดยมีพวกนาคเป็นบริวาร และ (๔) ทิศเหนือ มีท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณเป็นผู้ดูแล โดยมีพวกยักษ์เป็นบริวาร[8] เทวดาอื่น ๆ ที่สังกัดสวรรค์ชั้นนี้มีหลากหลายนับแต่ระดับภุมมเทวดาที่สถิตอยู่ในภาคพื้นหรือในธรรมชาติ เช่น ตามป่าเขา แม่น้ำ และอากาศเทวดาที่สถิตอยู่ในชั้นบรรยากาศ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์[9] เทวดาเหล่านี้คงได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าในธรรมชาติแต่ละอย่างมีเทวดาประจำและคอยบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแตกต่างกันไปตามอำนาจของเทวดาที่ประจำในธรรมชาตินั้น ๆ แต่พระพุทธศาสนาได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเทวดาเหล่านี้เสียใหม่ให้อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม คือแม้จะมีคุณสมบัติพิเศษกว่ามนุษย์หลายอย่าง แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็ยังต้องทำกรรมต่าง ๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง และผลของกรรมนั้นก็ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ ต่อไปตามอำนาจของกรรม บทบาทหน้าที่ของเทวดาเหล่านี้จึงเปลี่ยนจากที่เคยมีอำนาจดลบันดาลให้มนุษย์สยบยอมกลายมาเป็นผู้คอยสอดส่องดูแลหรือเตือนสติมนุษย์ไม่ให้ประมาท ที่เห็นได้ชัดคือท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ซึ่งพิจารณาจากชื่อแล้วดูจะมีอำนาจยิ่งใหญ่คอยรักษาโลกทั้ง ๔ ทิศ แต่บทบาทหน้าที่สำคัญเหลือเพียงคอยตรวจตราดูพฤติกรรมของมนุษย์ทุก ๆ วันธัมมัสสวนะ ๑๕ ค่ำ แล้วคอยรายงานให้เทวดาอื่น ๆ ทราบในเทวสภาเท่านั้น

เทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีบทบาทโดดเด่นกว่าเทวดาอื่น ๆ ในสวรรค์ชั้นเดียวกันคือ ท้าวสักกะหรือพระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าเทวดาชั้นดาวดึงส์ โดยท้าวสักกะมักจะคอยให้ความช่วยเหลือแก่นักบวช นักพรต ผู้ทรงศีลธรรมหรือบำเพ็ญตบะแก่กล้าเสมอ บางครั้งก่อนจะช่วยเหลือ ท้าวสักกะมักจะทดสอบดูให้แน่ใจก่อนว่าคนนั้นดีจริงจึงจะช่วย หรือเมื่อมีผู้หลงผิดก็จะให้คำแนะนำเพื่อให้กลับใจประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท้าวสักกะพร้อมเทวดาที่เป็นบริวารก็มักจะให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ ในคัมภีร์รุ่นหลังพระไตรปิฎกมักจะเน้นถึงบทบาทด้านการให้ความช่วยเหลือของท้าวสักกะบ่อยครั้ง เช่น ช่วยรักษาความสงบในวัด ขณะที่สามเณรรูปหนึ่งกำลังปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น ใช้อิทธิฤทธิ์ช่วยพระจักขุบาลตาบอดให้เดินทางถึงจุดหมายโดยเร็ว แต่ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงบทบาทสำคัญของท้าวสักกะคือการพาบริวารมาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหาข้อข้องใจกับพระพุทธเจ้า และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ได้มาเฝ้าดูจนลมหายใจสุดท้ายพร้อมกับกล่าวคำไว้อาลัย[10]

เทวดาในสวรรค์ชั้นยามาไม่มีองค์ใดที่มีบทบาทโดดเด่นเป็นพิเศษ คงมีกล่าวถึงรวมกับเทวดาชั้นอื่น ๆ  เมื่อเหล่าเทวดาพากันเฝ้าพระพุทธเจ้าจำนวนมากเช่นในมหาสมยสูตร

สวรรค์ชั้นดุสิตเป็นที่สถิตของเหล่าเทวดาระดับพระโพธิสัตว์เป็นส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต หรือไม่ก็เป็นที่สถิตของบุคคลสำคัญ เช่น พระนางเจ้าสิริมหามายาผู้เป็นพุทธมารดาเมื่อสวรรคตแล้วได้บังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นนี้ บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ได้บังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นนี้ คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และเมื่อเป็นเทวดาแล้วท่านได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน เปล่งรัศมีสว่างไสวทั่วทั้งพระเชตวัน ถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วยืน ณ ที่เหมาะสม กล่าวธรรมภาษิตพอสมควรและกล่าวชื่นชมพระสารีบุตรที่ได้แสดงธรรมให้ตนฟังก่อนที่ตนจะสิ้นชีวิต จากนั้นจึงถวายบังคมลากลับ[11]

เทวดาในสวรรค์ชั้นนิมมานรดีคงเป็นเช่นเดียวกันกับเทวดาชั้นยามา คือ ไม่มีองค์ใดมีบทบาทโดดเด่นเป็นพิเศษหรือเกี่ยวข้องกับมนุษย์คนใดเป็นกรณีพิเศษ คงมีกล่าวถึงรวมกับเทวดาชั้นอื่น ๆ เฉพาะตอนที่เทวดาจำนวนมากมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยระบุชื่อเทวดาชั้นนี้รวมอยู่ด้วย

เทวดาในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีชื่อเรียกบทบาทในด้านลบว่า มาร เพราะมักจะคอยขัดขวางหรือรบกวนมนุษย์ไม่ให้เป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจของมาร ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับมารที่มาคอยขัดขวางหรือรบกวน แม้แต่พระพุทธเจ้านับแต่เสด็จออกผนวช เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพานก็มีมารคอยผจญเสมอ เหล่าสาวกของพระองค์ทั้งภิกษุและภิกษุณีหลายรูปต่างก็เคยพบกับมารต่างกรรมต่างวาระมีทั้งมาแบบข่มขู่และแบบชักชวน แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถเอาชนะมารได้ เนื่องจากมารไม่สามารถทำให้ท่านเหล่านี้ใจอ่อนยอมทำตาม เช่น ครั้งหนึ่งมารแปลงกายเป็นพราหมณ์แก่มาพูดชักชวนให้พระหนุ่มกลุ่มหนึ่งสึกไปใช้ชีวิตวัยหนุ่มให้สนุกสนานคุ้มค่า แต่ท่านเหล่านั้นไม่เห็นด้วย[12]

จากบทบาทของเทวดาชั้นต่าง ๆ จะเห็นว่ามีทั้งบทบาทในด้านบวก เช่น การให้ความช่วยเหลือหรือดูแลผู้ทรงศีลทรงธรรม การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมหรือทูลถามปัญหา และบทบาทในด้านลบ เช่น เกิดความอิจฉาริษยา ทำการขัดขวางหรือรบกวนผู้ที่ใจอ่อนไม่เข้มแข็งให้ตกอยู่ใต้อำนาจและชักนำไปในทางที่ไม่ดี ผลที่เกิดจากการดำเนินบทบาทในด้านบวกย่อมอำนวยให้เทวดาเจริญก้าวหน้าในความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หรือบางองค์อาจได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล เช่นท้าวสักกะที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันหลังจากจบการทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า ส่วนเทวดาที่คอยอิจฉาริษยาหรือคอยขัดขวางผู้อื่นก็ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นเอง คือ เป็นผู้มีทุกข์เสียใจที่ไม่อาจทำอะไรผู้อื่นได้ดังใจและอาจถึงขั้นต้องจุติจากสวรรค์ก่อนเวลาอันควรได้ทันที 

ตามหลักคำสอนในพระสุตตันตปิฎกและธรรมเนียมปฏิบัติต่อเทวดาเท่าที่ผู้วิจัยได้ศึกษามาสรุปได้ว่ามนุษย์ควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเทวดา ๔ ประการ คือ (๑) ทำเทวตาพลี คือ อุทิศส่วนกุศลแก่เทวดา (๒) เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา (๓) เจริญเมตตาต่อเทวดา และ (๔) อัญเชิญเทวดามาร่วมทำความดี เช่น ฟังธรรม

ส่วนผลการวิจัยภาคสนามพบว่า พระสังฆาธิการส่วนใหญ่เชื่อว่ามนุษย์ตายแล้วเกิดอีกร้อยละ ๘๐  เชื่อว่าชีวิตมนุษย์ได้ถูกกำหนดไว้แล้วโดยกฎแห่งกรรมร้อยละ ๘๑ ไม่เชื่อว่าชีวิตมนุษย์เป็นไปตามพรหมลิขิตร้อยละ ๖๐  เชื่อว่าสวรรค์เป็นดินแดนที่มนุษย์จะต้องไปเกิดเพื่อเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำไว้ ร้อยละ ๖๘  เชื่อว่าสวรรค์ในอก นรกในใจ คือ เห็นว่านรกสวรรค์เป็นเพียงคำเปรียบเทียบความสุขและความทุกข์ที่มีในใจของคนแต่ละขณะเท่านั้น ร้อยละ ๖๗  เชื่อว่าเป็นเทวดาแล้วอาจจะตกต่ำกว่าเดิมได้ถ้าประพฤติไม่ดี ร้อยละ ๗๗  เชื่อว่า เทวดาอยู่ในภาวะที่ประเสริฐกว่ามนุษย์ ร้อยละ ๗๑ ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์มีฐานะเสมอกับเทวดา ร้อยละ ๖๐ เชื่อว่าพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นเทวดาโดยสมมติ ร้อยละ ๘๐ เชื่อว่าพระอรหันต์เป็นเทวดาเพราะมีคุณธรรมสูงสุด ร้อยละ ๔๘ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เชื่อมีร้อยละ ๓๓ เชื่อว่าจตุคามรามเทพเป็นเทวดาองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๔๒ ในขณะที่เห็นว่าไม่ใช่ร้อยละ ๒๘ และประเด็นสุดท้ายเห็นว่า ความเชื่อเรื่องเทวดามีมานานก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเกิด ร้อยละ ๗๔

                  ส่วนประเด็นเกี่ยวกับท่าทีต่อเทวดา พบว่า พระสังฆาธิการส่วนใหญ่ยอมรับว่าเทวดามีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๕๖ ยอมรับว่า พราหมณ์ พุทธ ผี ต้องอาศัยกัน จะแยกกันไม่ได้ ร้อยละ ๔๐ ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๕๐ ยอมรับว่า บทสวดชุมนุมเทวดาเป็นการเชื้อเชิญเทวดาให้ลงมาปกปักรักษา ร้อยละ ๖๐ ยอมรับว่า ความเชื่อหรือการนับถือเทวดามีผลดีมากกว่าผลเสีย ร้อยละ ๕๐ ในขณะที่มีผู้ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๔๐ ยอมรับว่า ความเชื่อหรือการนับถือเทวดาในสังคมไทยปัจจุบันมีความถูกต้อง/เหมาะสมร้อยละ ๓๐ ในขณะที่มีผู้ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๕๐ ยอมรับว่า พระพุทธรูปที่เก่าแก่บางองค์ศักดิ์สิทธิ์เพราะมีเทวดารักษา ร้อยละ ๖๐ ยอมรับว่า การแสดงความเคารพสถานที่ต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ใหญ่ ป่าเขา แม่น้ำ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกหนทุกแห่งมีเทวดาสถิตอยู่ ร้อยละ ๕๑ ยอมรับว่า เทวดามีอารมณ์หรือความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงควรทำให้เทวดาพอใจ เพื่อว่าท่านจะอำนวยประโยชน์ให้ตามต้องการ ร้อยละ ๓๐ ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๓๕ และไม่แน่ใจร้อยละ ๓๕  ผู้ตอบแบบสอบถามไม่แน่ใจว่าความเจ็บป่วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผิดผีหรือทำผิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถึงร้อยละ ๗๕  ไม่เห็นด้วยว่าทุกวัดหรือทุกบ้านควรมีหิ้งหรือศาลเจ้าสำหรับเทวดา ร้อยละ ๓๐ ในขณะที่ไม่แน่ใจร้อยละ ๔๒ ผู้ตอบแบบสอบถามไม่แน่ใจว่า การบนบานต่อเทวดาเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการเป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๕๐ และประเด็นสุดท้าย ยอมรับว่า คนดีผีคุ้ม (คนทำดี เทวดาย่อมรักษา) ร้อยละ ๘๐

                  ส่วนผลการวิเคราะห์แบบสอบถามจากฝ่ายฆราวาส สรุปได้ดังนี้ ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเทวดา พบว่า ฆราวาสส่วนใหญ่เชื่อว่า มนุษย์ตายแล้วเกิดอีก ร้อยละ ๗๕.๕ เชื่อว่าชีวิตมนุษย์ได้ถูกกำหนดไว้แล้วโดยกฎแห่งกรรม ร้อยละ ๗๔ เชื่อว่า ชีวิตมนุษย์เป็นไปตามพรหมลิขิต ร้อยละ ๔๕ ส่วนที่เห็นว่าไม่ใช่ร้อยละ ๔๐ เชื่อว่า สวรรค์เป็นดินแดนที่มนุษย์จะต้องไปเกิดเพื่อเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำไว้ ร้อยละ ๖๗.๕  เชื่อว่าสวรรค์ในอก นรกในใจ ร้อยละ ๕๑.๕ เชื่อว่า เป็นเทวดาแล้วอาจจะตกต่ำกว่าเดิมได้ถ้าประพฤติไม่ดี ร้อยละ ๖๕ เชื่อว่า เทวดาอยู่ในภาวะที่ประเสริฐกว่ามนุษย์ ร้อยละ ๗๖ ผู้ตอบแบบสอบถามไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์มีฐานะเสมอกับเทวดา ร้อยละ ๗๒ ไม่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นเทวดาโดยสมมติ ร้อยละ ๑๘ เชื่อว่า พระอรหันต์เป็นเทวดาเพราะมีคุณธรรมสูงสุด ร้อยละ ๓๙.๕ เห็นว่าไม่ใช่ร้อยละ ๓๒.๕ เชื่อว่า จตุคามรามเทพเป็นเทวดาองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๓๙.๕ เห็นว่าไม่ใช่ร้อยละ ๓๒.๕ เชื่อว่า ความเชื่อเรื่องเทวดามีมานานก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเกิด ร้อยละ ๖๙.๕

                  ในประเด็นท่าทีต่อเทวดา พบว่า ฆราวาสส่วนใหญ่ยอมรับว่า เทวดามีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๖๐  ยอมรับว่า พราหมณ์ พุทธ ผี ต้องอาศัยกัน จะแยกกันไม่ได้ ร้อยละ ๔๗.๕ ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๔๐ ยอมรับว่า บทสวดชุมนุมเทวดาเป็นการเชื้อเชิญเทวดาให้ลงมาปกปักรักษา ร้อยละ ๖๓.๕ ยอมรับว่าความเชื่อหรือการนับถือเทวดามีผลดีมากกว่าผลเสีย ร้อยละ ๖๗.๕ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่เห็นว่า ความเชื่อหรือการนับถือเทวดาในสังคมไทยปัจจุบันมีความถูกต้อง/เหมาะสม ร้อยละ ๔๕.๕ และไม่แน่ใจร้อยละ ๓๐ ยอมรับว่าพระพุทธรูปที่เก่าแก่บางองค์ศักดิ์สิทธิ์เพราะมีเทวดารักษาร้อยละ ๘๐ ไม่เห็นด้วยกับ การแสดงความเคารพสถานที่ต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ใหญ่ ป่าเขา แม่น้ำ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกหนทุกแห่งมีเทวดาสถิตอยู่ ร้อยละ ๖๕ ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ว่า เทวดามีอารมณ์หรือความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงควรทำให้เทวดาพอใจ เพื่อว่าท่านจะอำนวยประโยชน์ให้ตามต้องการ ร้อยละ ๖๗.๕ ไม่แน่ใจว่าความเจ็บป่วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการ ผิดผี หรือทำผิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร้อยละ ๔๙.๕ ไม่เห็นด้วยว่า ทุกวัดหรือทุกบ้านควรมีหิ้งหรือศาลเจ้าสำหรับเทวดา ร้อยละ ๔๔ ไม่เห็นด้วยว่าการบนบานต่อเทวดาเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการเป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๕๓.๕ และเห็นด้วยว่า คนดีผีคุ้ม (คนทำดี เทวดาย่อมรักษา) ร้อยละ ๗๐  

 

วิจารณ์

 

                  จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกและการแจกแบบสอบถาม ผู้วิจัยได้เปรียบเทียบประเด็นความเข้าใจเบื้องต้นและท่าทีต่อเทวดาของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งที่เป็นพระสังฆาธิการและฆราวาส ดังต่อไปนี้

                  ๑. ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเทวดา

                  สำหรับพระสังฆาธิการพบว่ามีความเข้าใจสอดคล้องกับหลักพุทธธรรมใน๑๒ ประเด็นในแบบสอบถาม ยกเว้นประเด็นที่ถามว่าเทวดาอยู่ในภาวะที่ประเสริฐกว่ามนุษย์ ส่วนใหญ่เห็นว่าใช่ถึงร้อยละ ๗๑ ซึ่งเป็นคำตอบที่ขัดกับหลักเทพ ๓ ประเภท คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ แม้เทวดาจะมีคุณสมบัติพิเศษกว่ามนุษย์หลายด้าน แต่ก็เป็นคุณสมบัติภายนอกโดยเฉพาะความเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ส่วนคุณสมบัติภายใน คือ ปัญญา เทวดาด้อยกว่าวิสุทธิเทพ คือ พระพุทธเจ้าและพระอริยบุคคล เนื่องจากเทวดาในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ พากันหาโอกาสมาเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวกเสมอเพื่อฟังธรรมหรือบำเพ็ญกุศลด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป หากเทวดาประเสริฐกว่ามนุษย์ด้านนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมาหาหรือมาทำบุญในโลกมนุษย์นี้ ในประเด็นเดียวกันนี้ฆราวาส เห็นว่า เทวดาอยู่ในภาวะที่ประเสริฐกว่ามนุษย์ร้อยละ ๗๖ ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้เข้าใจผิดคิดเป็นร้อยละมากกว่าพระสังฆาธิการ

                  ๒. ท่าทีต่อเทวดา

                  สำหรับพระสังฆาธิการที่ตอบทั้ง ๑๒ ประเด็น ส่วนใหญ่พบว่าสอดคล้องกับหลักพุทธธรรม ยกเว้นประเด็นที่ว่าบทสวดชุมชุมเทวดาเป็นการเชื้อเชิญเทวดาให้มาปกปักรักษา ซึ่งมีพระสังฆาธิการเห็นด้วยถึงร้อยละ ๖๐ ความจริงแล้ว การสวดชุมชุมเทวดานั้นจุดประสงค์หลักคือเพื่ออัญเชิญเทวดาให้มาเป็นสักขีพยานและร่วมบำเพ็ญกุศลด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อให้มาช่วยปกปักรักษา ดังในคำแปลของบทสวดชุมนุมเทวดาก็ชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ให้ทุกคนแผ่เมตตาไปยังเทวดาต่าง ๆ ให้มาร่วมกันฟังธรรม ในประเด็นเดียวกันนี้ ฆราวาสที่เห็นว่าการสวดชุมนุมเทวดาเป็นการเชื้อเชิญเทวดาให้ลงมาปกปักรักษามีถึงร้อยละ ๖๓.๕  เท่ากับว่ามีผู้ที่เห็นไม่สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมมากกว่าพระสังฆาธิการ 

                  หากพิจารณาโดยภาพรวมพระสังฆาธิการมีความรู้ความเข้าใจและท่าทีต่อเทวดาถูกต้องกว่าฆราวาส อาจเป็นเพราะพระสังฆาธิการมีโอกาสดีกว่าในการศึกษาเล่าเรียนหลักพุทธธรรมโดยตรงและต่อเนื่องกว่าฆราวาส แม้จะมีบางประเด็นที่เห็นขัดแย้งกับหลักพุทธธรรมบ้างดังกล่าวแล้วข้างต้น

 

ข้อเสนอแนะ

 

                  ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเทวดาเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะที่มนุษย์และเทวดาต่างอยู่ร่วมในสังสารวัฏด้วยกัน และอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งความรู้ความเข้าใจต่อสถานะและบทบาทของเทวดานี้จะช่วยให้เรามีท่าทีหรือแนวปฏิบัติที่ถูกต้องต่อเทวดา และผลการวิจัยพบว่าพระสังฆาธิการมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่าฆราวาส ดังนั้น พระสังฆาธิการควรถ่ายทอดความรู้และแนวทางปฏิบัติต่อเทวดาที่ถูกต้องเหมาะสมผ่านการเทศนาบ้าง ผ่านประเพณีหรือการทำบุญในวาระต่าง ๆ บ้าง โดยเน้นข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นหลัก

                  ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อและท่าทีต่อเทวดารุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เช่น เสด็จพ่อ ร.๕ พระสุพรรณกัลยา จตุคามรามเทพ

 

กิตติกรรมประกาศ

 

การวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเพราะได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๒ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับคำแนะนำอันเป็นประโยชน์จากผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ยังได้รับคำแนะนำอันดียิ่งจากที่ปรึกษางานวิจัยอีก ๓ ท่าน กล่าวคือ พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ)  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ดร.พระครูสารกิจโกศล รองอธิการบดีวิทยาเขตอุบลราชธานี และดร.พระครูสมุห์เฉวียน กตปุญฺโญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาเขตอุบลราชธานี คณะผู้วิจัยจึงขอแสดงความขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ และในท้ายที่สุด คณะผู้วิจัยขอขอบคุณผู้ตอบแบบสอบถามทุกท่านที่ได้สละเวลาอันมีค่าตอบแบบสอบถามด้วยความเต็มใจยิ่ง

 

เอกสารอ้างอิง

 

มหาจุฬาเตปิฏกํ.  ทีฆนิกาเย มหาวคฺคปาลิ (เล่มที่ ๑๐).  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราช       วิทยาลัย, ๒๕๐๐.

____________.  ทีฆนิกาเย ปาฏิกวคฺคปาลิ (เล่มที่ ๑๑).  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

____________.  มชฺฌิมนิกาเย อุปริปณฺณาสกปาลิ (เล่มที่ ๑๔).  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

____________.  สํยุตฺตนิกาเย สคาถวคฺคปาลิ (เล่มที่ ๑๕).  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

____________.  สํยุตฺตนิกาเย ขนฺธวารวคฺคปาลิ (เล่มที่ ๑๗).  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

____________.  องฺคุตฺตรนิกาเย เอกนิปาต ทุกนิปาต ติกนิปาตปาลิ (เล่มที่ ๒๐).  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

____________.  องฺคุตฺตรนิกาเย สตฺตกนิปาต อฏฺฐกนิปาต นวกนิปาตปาลิ (เล่มที่ ๒๓).

                 กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

____________.  ขุทฺทกนิกาเย  จูฬนิทฺเทสปาลิ (เล่มที่ ๓๐).  กรุงเทพฯ:  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

Jotiya Dhirasekera and W.G. Weeraratne (Editors).  Encyclopaedia of Buddhism, Vol.

 IV, Sri Lanka: The Government of Sri Lanka, 2000.

 



[1] Encyclopaedia of Buddhism Vol. IV, (Sri Lanka: The Government of  Sri Lanka, 2000), p. 413.

[2] สิ่งที่คนนับถือบูชา เช่น นักบวช สัตว์พิเศษบางประเภท อำนาจเหนือธรรมชาติ ดูรายละเอียดใน ขุ.จู.(บาลี), ๓๐/๑๒/๕๑-๕๒.

[3] ขุ.จู.(บาลี), ๓๐/๓๒/๙๖.

[4] เช่น กรณีของพระเจ้าปายาสิที่ทรงให้ทานไว้มากมาย แต่สิ่งของที่ให้ด้อยคุณภาพ และทรงให้โดยไม่เต็มพระทัย เมื่อสวรรคตจึงได้วิมานว่างเปล่า ดูรายละเอียดใน ที.ม.(บาลี), ๑๐/๔๔๑/๓๐๐-๓๐๑.

[5] ดูรายละเอียดผลกรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาประเภทต่าง ๆ ใน องฺ.ทุก.(บาลี), ๒๐/๑๘/๕๗, ที.ปา. (บาลี), ๑๑/๓๔๗/๒๓๘, องฺ.อฏฺฐก. (บาลี), ๒๓/๔๒/๒๐๗-๒๐๘, ที.ปา.(บาลี), ๑๑/๓๓๗/๒๒๘, และ ที.ม.(บาลี), ๑๐/๓๕๓/๒๓๑-๒๓๒. 

[6] อง.นวก. (บาลี), ๒๓/๒๑/๓๒๔.

[7] ในพระบาลีมักพรรณาถึงคุณสมบัติของเหล่าเทวดาไว้คล้าย ๆ กันทุกระดับ คือ ทีฆายุกา (มีอายุยืน) วณฺณวนฺโต (มีรูปร่างผิวพรรณงาม) และสุขพหุลา (เพียบพร้อมด้วยความสุข) เช่น ใน สํ.ข. (บาลี), ๑๗/๕๕๑/๒๑๗.

[8] ที.ปา. (บาลี), ๑๑/๒๗๘-๒๘๑/๑๗๑-๑๗๕.

[9] เช่น ใน สํ.ส. (บาลี), ๑๕/๙๐-๙๑/๕๘-๕๙ กล่าวถึงจันทิมเทพบุตรที่คอยทำหน้าที่ให้แสงสว่างเวลากลางคืน และสุริยเทพบุตรที่คอยทำหน้าที่ให้แสงสว่างในเวลากลางวัน เทพบุตรทั้ง ๒ จะต้องคอยระวังศัตรูสำคัญ คือ อสูรชื่อว่าราหู หรือพระราหู ที่มักจะมาจับเทพบุตรทั้ง ๒ ไว้ จนเทพบุตรทั้ง ๒ ต้องขอพึ่งพระพุทธคุณจึงปลอดภัย

[10] บทบาทของท้าวสักกะที่เกี่ยวกับการพาเหล่าเทวดามาเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ เช่น ใน ที.ม.(บาลี), ๑๐/๓๕๐-๓๗๑/๒๓๐-๒๔๗ และมาคอยเฝ้าดูพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานพร้อมกับ กล่าวคำไว้อาลัย ใน ที.ม.(บาลี), ๑๐/๒๒๑/๑๓๗  ส่วนในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา โดยเฉพาะธมฺมปทฏฺฐกถา และมงฺคลตฺถทีปนี มักกล่าวถึงบทบาทของท้าวสักกะพร้อมกับบริวารที่มาคอยช่วยเหลือชาวพุทธที่ทำความดีในรูปแบบต่าง ๆ

[11] ม.อุปริ.(บาลี), ๑๔/๓๘๗/๓๓๓-๓๓๔.

[12] สํ.ส.(บาลี), ๑๕/๑๕๗/๑๔๒.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕