หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระครูวิมลศิลปะกิจ » การศึกษารูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย
 
เข้าชม : ๗๗๔๔ ครั้ง

''การศึกษารูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย''
 
พระครูวิมลศิลปะกิจ และคณะ (2556)

 

การศึกษารูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัด

ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย

The Study of Forms and Conditions of learning Sources in the Temples

of Tourist Attractions in Chiang Rai Province

 

พระครูวิมลศิลปะกิจ: น.ธ.เอก, พธ.บ.(สังคมศึกษา),

ค.ม.(การบริหารการศึกษา)

ฤทธิชัย แกมนาค: ศศบ. (รัฐศาสตร์),

MA (Pol.Sc.), Ph.D.(Soc.Sc.)

นเรศร์  บุญเลิศ: วท.บ.(วิทยาการคอมพิวเตอร์),

ค.ม.(เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา)

 

บทคัดย่อ

 

จากการศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพการจัดการแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ความคิดเห็นของพระสงฆ์และนักท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ ตัวอย่าง  โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ๓ แห่ง  ได้แก่  วัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) วัดร่องขุ่น อำเภอเมือง และวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  แห่งละ ๑๐๐ คน

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่เพศหญิง รองลงมาได้แก่ วัยผู้ใหญ่เพศชาย ส่วนเยาวชนมีจำนวนน้อย ด้านการให้ความร่วมมือกับทางวัด พบว่า ในภาพรวม ส่วนใหญ่ปฏิบัติตนตามระเบียบของวัด อยู่ในระดับดีมาก รองลงมา อยู่ในระดับพอใช้ และ อยู่ในระดับดี 

ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ ด้านพุทธศิลปะ/สถาปัตยกรรมเหมาะสมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ จากผลการศึกษาวิจัย พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายการ พบว่า ความสวยงามของปะติมากรรมภายในวัด มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ความสวยงามของสถาปัตยกรรมภายในวัด ส่วนด้านความสะดวกสบายในการท่องเที่ยววัด พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายข้อพบว่า มีป้ายชื่อ        และรายละเอียดแจ้งถึงสถานที่ภายในวัดที่ชัดเจน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด สำหรับด้านค่าใช้จ่ายของการเข้าท่องเที่ยวภายในวัด พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายข้อ พบว่า  ราคาเครื่องสักการบูชามีความเหมาะสม มีค่าเฉลี่ยสูงสุด และด้านแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสารประโยชน์ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายข้อพบว่า ศิลปวัฒนธรรมที่มีในวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้เหมาะสม มีค่าเฉลี่ยสูงสุด  

ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ผลการวิจัย พบว่า ประชากรกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จากการศึกษาวิจัย พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายข้อ พบว่า ควรปรับปรุงคำไหว้พระธาตุ/พระพุทธรูป มีค่าเฉลี่ยระดับมากที่สุด ส่วนด้านการแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์        มาก ๆ ต่อผู้เข้าไปท่องเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่อยากให้เพิ่มแหล่งเรียนรู้ที่เป็นศิลปะล้านนาให้มากขึ้น รองลงมา ได้แก่ จัดทำสื่อที่เป็นตู้ระบบมัลติมีเดียอธิบายถึงบริเวณวัดหรือสิ่งสำคัญของวัด และด้านข้อแนะนำอื่น ๆ ได้แก่ ควรมีศาลาที่พักเพิ่มขึ้น มีน้ำดื่มสะอาดไว้บริการ ปลูกไม้ในวรรณคดีหรือพุทธประวัติให้ศึกษาเรียนรู้

ผลการศึกษาวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาหรือเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร ผลการวิจัยพบว่า สถานการณ์โดยทั่วไปวัดจะมีความสงบ เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรม สำหรับในเชิงพระพุทธศาสนาหรือเชิงวัฒนธรรมนั้นมีบ้างในกลุ่มของผู้มีอายุตั้งแต่ ๔๕ ปีขึ้นไป สำหรับปัจจัยที่เป็นเครื่องดึงดูดใจนักท่องเที่ยว มีความเห็นตรงกันว่า ศาสนวัตถุเป็นส่วนสำคัญอันดับแรกที่ทำให้วัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนที่เป็นศาสนบุคคล พบว่า ศาสนบุคคลก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้วัดเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนแหล่งเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวหรือเยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ พบว่า ต่างมีความเห็นที่ไม่แตกต่างกัน         

ผลการศึกษาวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๔ พบว่า ปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (ในวัด) ส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวนิยมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชมธรรมชาติ และแหล่งเริงรมย์เป็นหลัก นอกจากนั้นระยะทางการเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายมาก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระหว่างเดินทางก็เป็นอีกหนึ่งของปัญหาอุปสรรค และปัญหาอุปสรรคที่จัดแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ในวัด พบว่า ปัญหาเกิดจากงบประมาณในการดำเนินการเป็นอันดับแรก อันดับรองลงมาได้แก่ หน่วยงาน องค์กร ที่วัดนั้นอยู่ในพื้นที่ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะร่วมพัฒนาวัด บุคลากรภายในวัดส่วนใหญ่ขาดความรู้ ประสบการณ์การจัดวัดให้เป็นสถานที่เรียนรู้ของนักท่องเที่ยว ชุมชนไม่ได้เข้าไปร่วมกับการแสดงความคิดเห็นในการบริหารจัดการเพราะเห็นว่าผู้ที่บริหารวัดนั้นมีภูมิความรู้อยู่แล้วไม่กล้าไปแสดงความคิดเห็น

 

คำหลัก: การท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, การเรียนรู้เชิงพุทธ, แหล่งเรียนรู้, รูปแบบและ สภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด

 

Abstract

 

This research is “The Study of Forms and Conditions of learning Sources in the Temples of Tourist Attractions in Chiang Rai Province’.  Its objectives are to study the management of the learning sources of the temples, opinions of monks and visitors concerning the development of the tourist places and to find out the ways to develop the temple learning sources in Chiang Rai Province. The samples consisted of 300 people and by the data were collected from 3 temples: What Prakeaw, What Rong Khun and What Phrataphangaow

The results of this research were as follows:

The conditions of the management of learning sources of the temples in the aspect of Buddhist art and architecture, on the whole, was in medium level.  When considering the average of each item, it was found that the beauty of sculptural paintings is in the highest level, the second is the beauty of architecture and the murals Parntings inside the temples.  To travel conveniently in the temples on the whole, is in the middle level. When considering the average of each item, it was found that there are signs and labels in temples are clear is in the highest level, come second is there is adequacy of car parking and bathroom service.  As a whole  the travelling cost is in the middle level.  When Considering the averages of each item, was found that “prices of sacrifices are reasonable” is in the highest level. The second is the prices of sacred objects, foods and drinks are reasonable.  For the useful learning sources of the temples it is in the middle level.  For each item, it is found that “the appropriateness of arts and cultures” is in the highest level.  Come second is There are proverbs and mottos for people to learn and public relations,  natural and environmental learning sources are well imformative.

The developing ways of the learning sources of temples in Chiang Rai province is in the middle level.  For each item, it is found that there should be the improvement of words of paying respect to pagoda and the Buddha. Come second the histories of the temples and pagoda, painting, museum, and proverbs respectively.

For problems solving in order to benefit tourists, the majority of the temples want to increase the art learning sources in north of Thailand.  Next is the use of the multimedia for describing the importance of the temples and monks who provide knowledge and information of the temples. Other items are that the temples should increase the residence hall for tourists, clean water services, planting of trees associated with literature or history of the Buddha for learning.

Regarding opinions of monks and tour operators’ about the development, it was the opinions on the situation of how Buddhist and cultural tourism is in the present and future time, and how the factors can attract tourists, and the temple can be managed to be the learning sources for tourists and teenagers.  The problems about conserving the Buddhist art and culture is that most tourists have no ideas to learn about the temples. Moreover, there are problems about the distance and cost of traveling, safety of their lives and properties during their travel and budget for organizing the development.  The problems are also found with the lack of attention of nearby temples in the development and the lack of the knowledge and experience of personnel on temples management as learning sources of the tourists. The last problem was that the community in the same area did not share their ideas with the temple development because they thought that temple administrators Know well about how to manage the temples as learning sources to attract the tourists.

 

 

 

บทนำ

 

                การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากความสนใจของผู้วิจัยและคณะที่จะศึกษาถึงรูปแบบและสภาพการบริหารจัดการวัดของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเภทวัด หรือเชิงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม เป็นการเสริมคุณค่าของพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการจัดการแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย หาแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย ศึกษาความคิดเห็นของพระสงฆ์และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนา และศึกษาปัญหาอุปสรรคของวัดด้านการจัดแหล่งเรียนรู้ในวัด (อนุรักษ์พุทธศิลป์ วัฒนธรรมประเพณี)

 

เครื่องมือและวิธีการวิจัย

 

                จากการศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาสภาพการจัดการแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาความคิดเห็นของพระสงฆ์และนักท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด

                ประชากรและกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ ตัวอย่าง โดยมีขอเขตเนื้อาศึกษาข้อมูลพื้นฐานของนักท่องเที่ยว มูลเหตุของการจูงใจด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวัดในจังหวัดเชียงราย ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ สถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรคของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของวัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) วัดร่องขุ่น อำเภอเมืองเชียงราย และวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในอดีตถึงปัจจุบัน โดยยึดหลักการศึกษาตามองค์ประกอบของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะเน้นการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์  โบราณสถาน สถาปัตยกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม พื้นบ้าน ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมล้านนา และศึกษาความเห็นของพระสงฆ์ ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายในเชิงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และความเห็นของชุมชนที่วัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่ ส่วนด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ใช้กลุ่มตัวอย่าง ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย กลุ่มที่สอง เป็นพระสงฆ์ภายในวัด และกลุ่มที่สาม เป็นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย

ผลการวิจัย

 

                จากการศึกษารูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาสภาพการจัดการแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผลการศึกษาวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่เพศหญิง รองลงมาได้แก่ วัยผู้ใหญ่เพศชาย ส่วนเยาวชนมีจำนวนน้อย ส่วนด้านการให้ความร่วมมือกับทางวัดทั้ง ๓ แห่ง พบว่า ในภาพรวม ส่วนใหญ่ปฏิบัติตนตามระเบียบของวัด อยู่ในระดับดีมาก รองลงมา อยู่ในระดับพอใช้ และ อยู่ในระดับดี แต่เมื่อแยกตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา มีดังนี้

             ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ ศึกษาสภาพการจัดการแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาวิจัยในภาพรวม ที่เป็นด้านพุทธศิลปะ/สถาปัตยกรรมเหมาะสมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายการ พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ความสวยงามของปะติมากรรมภายในวัด รองลงมาได้แก่ ความสวยงามของสถาปัตยกรรมภายในวัด ความสวยงามของจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด 

                ด้านความสะดวกสบายในการท่องเที่ยววัด พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายการพบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ มีป้ายชื่อและรายละเอียดแจ้งถึงสถานที่ภายในวัดที่ชัดเจน รองลงมาได้แก่ ที่จอดรถเพียงพอสำหรับผู้เข้าไปท่องเที่ยวภายในวัด จำนวนห้องน้ำเพียงพอกับผู้ไปท่องเที่ยว ห้องน้ำสะอาดสมกับเป็นวัดท่องเที่ยว และเป็นสถานที่ที่ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เท่ากัน ตามลำดับ

                ด้านค่าใช้จ่ายของการเข้าท่องเที่ยวภายในวัด พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายการ พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ราคาเครื่องสักการบูชามีความเหมาะสม อยู่ในระดับมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ราคาวัตถุมงคลมีความเหมาะสม และราคาอาหาร/เครื่องดื่มเหมาะสม ตามลำดับ

                ด้านแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสารประโยชน์ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายข้อพบว่า ศิลปวัฒนธรรมที่มีในวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้เหมาะสม                  มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ มีสุภาษิตเตือนใจ หลักธรรมมีให้อ่านให้ศึกษา และบุคลากร/ประชาสัมพันธ์ของวัดให้ความรู้ได้ดี เท่ากัน และแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ เมื่อแยกเป็นรายวัด พบผลการศึกษาวิจัยดังนี้

                วัดพระแก้ว อำเภอเมืองเชียงราย ด้านพุทธศิลปะ/สถาปัตยกรรมเหมาะสมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า ความสวยงามของสถาปัตยกรรมภายในวัด อันดับหนึ่ง ได้แก่ พุทธศิลป์และสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว รองลงมาได้แก่ พระอุโบสถ และหอพระแก้วหยก ส่วนความสวยงามของประติมากรรมภายในวัด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรตนากรนวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย" รองลงมาได้แก่ พระพุทธประธานในพระอุโบสถ พระพุทธศรีเชียงราย พระเจ้าทันใจ พระเชียงแสน พระสุโขทัย และพระเจดีย์ ตามลำดับ สำหรับความสวยงามของจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังหอพระแก้วหยกเชียงราย รองลงมาได้แก่ จิตรกรรมปูนปั้น ลวดลายซุ้มพญาเม็งรายมหาราช จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ ขณะที่แหล่งการเรียนรู้และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ สัตภัณฑ์ รองลงมาได้แก่ โก่งคิ้ว ปราสาท แว่นพระเจ้า ขันแก้วตังสาม หีดธรรม ตามลำดับ และแหล่งพักผ่อนและให้ความเพลิดเพลินใจได้ดี พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว รองลงมาได้แก่ สภาพธรรมชาติ เป็นสวนไม้พุทธประวัติ/วรรณคดี รอบ ๆ พระอุโบสถ ติดป้ายชื่อต้นไม้ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ไปด้วย และหอพระหยกเชียงราย ส่วนด้านความสะดวกสบายในการท่องเที่ยววัดพระแก้ว พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ มีป้ายชื่อและรายละเอียดแจ้งถึงสถานที่ภายในวัดที่ชัดเจน รองลงมาได้แก่ ป้ายบอกชื่อต้นไม้ต่าง ๆ ป้ายความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด มีจำนวนห้องน้ำเพียงพอกับผู้ไปท่องเที่ยว มีห้องน้ำสะอาดสมกับเป็นวัดท่องเที่ยว และเป็นที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ตามลำดับ ส่วนที่ อยู่ในระดับน้อย ได้แก่ ที่จอดรถเพียงพอสำหรับผู้เข้าไปท่องเที่ยวภายในวัด สำหรับด้านค่าใช้จ่ายของการเข้าท่องเที่ยวภายในวัด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ราคาเครื่องสักการบูชามีความเหมาะสม รองลงมาได้แก่ ราคาของที่ระลึกมีความเหมาะสม ราคาวัตถุมงคลมีความเหมาะสม ตามลำดับ และด้านแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสารประโยชน์ พบว่า ศิลปวัฒนธรรมที่มีในวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้เหมาะสม อันดับหนึ่ง ได้แก่ คัมภีร์ธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รองลงมาได้แก่ อูบ เป็นภาชนะเครื่องเขิน ส่วนแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อันดับหนึ่ง ได้แก่ สภาพธรรมชาติ เป็นสวนไม้พุทธประวัติ/วรรณคดี รอบ ๆ พระอุโบสถ และบุคลากร/ประชาสัมพันธ์ของวัดให้ความรู้ได้ดี ตามลำดับ

                วัดร่องขุ่น ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย ด้านพุทธศิลปะ/สถาปัตยกรรมเหมาะสมกับเป็นแหล่งเรียนรู้  ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า              มีความสวยงามของสถาปัตยกรรมภายในวัด อันดับหนึ่ง ได้แก่ สถาปัตยกรรมของอุโบสถ ห้องน้ำ ห้องสุขา หอบริเวณรอบอุโบสถ รองลงมาได้แก่ หอพระธาตุ หอพระ กุฏิสงฆ์ และประตูเข้าเขตพุทธาวาส ตามลำดับ ส่วนความสวยงามของประติมากรรมภายในวัด อันดับหนึ่ง ได้แก่           พระประธานในอุโบสถ และพระพุทธรูปด้านอุโบสถ รองลงมาได้แก่ สะพานเข้าสู่อุโบสถ ซุ้มพระ และหอศิลป์ ตามลำดับ สำหรับมีความสวยงามของจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด อันดับหนึ่ง ได้แก่ ภาพพระพุทธเจ้าหลังพระประธานในอุโบสถ และภาพวาดภายในอุโบสถ ด้านการเป็นแหล่งการเรียนรู้และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น อันดับหนึ่ง ได้แก่ ภาพฝาผนังด้านในอุโบสถ หอศิลป์ และห้องแสดงภาพและจำหน่ายภาพ  และเป็นแหล่งพักผ่อนและให้ความเพลิดเพลินใจได้ดี อันดับหนึ่ง ได้แก่ บริเวณที่พักสองข้างทางภายในบริเวณวัด หอศิลป์ ห้องแสดงและจำหน่ายภาพ และบริเวณรอบ ๆ อุโบสถ ตามลำดับ ส่วนด้านความสะดวกสบายในการท่องเที่ยววัด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ที่จอดรถเพียงพอสำหรับผู้เข้าไปท่องเที่ยวภายในวัด รองลงมาได้แก่ มีจำนวนห้องน้ำ เพียงพอกับผู้ไปท่องเที่ยว มีห้องน้ำสะอาดสมกับเป็นวัดท่องเที่ยว มีป้ายชื่อและรายละเอียดแจ้งถึง สถานที่ภายในวัดที่ชัดเจนและเป็นที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ตามลำดับ ส่วนด้านค่าใช้จ่ายของการเข้าท่องเที่ยวภายในวัด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ราคาอาหาร/เครื่องดื่มเหมาะสม รองลงมาได้แก่ ราคาของที่ระลึกมีความเหมาะสม และราคาวัตถุมงคลมีความเหมาะสม ตามลำดับ สำหรับที่อยู่ในระดับน้อย ได้แก่ ราคาเครื่องสักการบูชามีความเหมาะสม และด้านแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสารประโยชน์ พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรมที่มีในวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้เหมาะสม รองลงมาได้แก่ บุคลากร/ประชาสัมพันธ์ของวัดให้ความรู้ได้ดี และแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สำหรับที่อยู่ในระดับน้อย ได้แก่ สุภาษิตเตือนใจ หลักธรรมมีให้อ่านให้ศึกษา

                วัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน ด้านพุทธศิลปะ/สถาปัตยกรรมเหมาะสมกับเป็นแหล่งเรียนรู้  ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่า มีความสวยงามของสถาปัตยกรรมภายในวัด อันดับหนึ่ง ได้แก่ สถาปัตยกรรมวิหารหลวงพ่อผาเงา อุโบสถ หอ พระไตรปิฎก พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ อาคารเทพกาญจนา และห้องน้ำห้องสุขา ส่วนความ สวยงามของประติมากรรมภายในวัด อันดับหนึ่ง ได้แก่ พระประธานในอุโบสถ และพระพุทธรูปในวิหารหลวงพ่อผาเงา สำหรับมีความสวยงามของจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด อันดับหนึ่ง ได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารหลวงพ่อผาเงา ขณะที่เป็นแหล่งการเรียนรู้และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น อันดับหนึ่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอเชียงแสน และเป็นแหล่งพักผ่อนและให้ความเพลิดเพลินใจได้ดี อันดับหนึ่ง ได้แก่ บริเวณที่พักสองข้างทางภายในบริเวณวัด สวนสมุนไพร บนยอดเนินพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ตามลำดับ สำหรับด้านความสะดวกสบายในการท่องเที่ยววัด พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ที่จอดรถเพียงพอสำหรับผู้เข้าไปท่องเที่ยวภายในวัด มีจำนวนห้องน้ำ เพียงพอกับผู้ไปท่องเที่ยว ห้องน้ำสะอาดสมกับเป็นวัดท่องเที่ยว และเป็นที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ตามลำดับ สำหรับที่อยู่ในระดับน้อย ได้แก่ มีป้ายชื่อและรายละเอียดแจ้งถึงสถานที่ภายในวัดที่ชัดเจน ส่วนด้านค่าใช้จ่ายของการเข้าท่องเที่ยวภายในวัด พบว่า ราคาเครื่องสักการบูชามีความเหมาะสม อันดับหนึ่ง ได้แก่ ดอกไม้ธูปเทียน รองลงมาได้แก่ ราคาอาหาร/เครื่องดื่มเหมาะสม คือ อาหารทุกประเภทที่ร้านอาหารบริการในวัด และราคาวัตถุมงคลมีความเหมาะสม คือ วัตถุมงคลทุกประเภทของวัด และด้านแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสารประโยชน์ พบว่า ศิลปวัฒนธรรมที่มีในวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้เหมาะสม อันดับหนึ่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอเชียงแสน รองลงมาได้แก่ บุคลากร/ประชาสัมพันธ์ของวัดให้ความรู้ได้ดี คือมีพิธีกรคอยประชาสัมพันธ์ชี้แนะอยู่ประจำหน้าวิหารหลวงพ่อผาเงา และแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม คือ ป่าไม้ธรรมชาติในบริเวณวัด สวนสมุนไพรของวัด ส่วนที่อยู่ในระดับน้อย ได้แก่ สุภาษิตเตือนใจ หลักธรรมมีให้อ่านให้ศึกษา

                ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย ผลการวิจัย พบว่า ประชากรกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของวัดที่มีอยู่ปัจจุบัน ดังนี้

                ด้านข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จากการศึกษาวิจัย พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเป็นรายการ พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ควรปรับปรุงคำไหว้พระธาตุ/พระพุทธรูป รองลงมาได้แก่ ประวัติวัด/ประวัติพระธาตุ ภาพจิตรกรรม พิพิธภัณฑ์ และคติคำคม ตามลำดับ

                ด้านการแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์มาก ๆ ต่อผู้เข้าไปท่องเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่อยากให้เพิ่มแหล่งเรียนรู้ที่เป็นศิลปะล้านนาให้มากขึ้น รองลงมา ได้แก่ จัดทำสื่อที่เป็นตู้ระบบมัลติมีเดียอธิบายถึงบริเวณวัดหรือสิ่งสำคัญของวัด และให้มีพระเป็นผู้นำในการศึกษาเรียนรู้ในวัดนั้น ๆ  

                ด้านข้อแนะนำอื่น ๆ ได้แก่ ควรมีศาลาที่พักเพิ่มขึ้น มีน้ำดื่มสะอาดไว้บริการ ปลูกไม้ใน วรรณคดีหรือพุทธประวัติให้ศึกษาเรียนรู้

                ผลการศึกษาวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ เพื่อศึกษาความคิดเห็นของพระสงฆ์และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนา พบว่า เกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาหรือเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร ผลการวิจัยพบว่า สถานการณ์โดยทั่วไป วัดจะมีความสงบ เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม ซึ่งเป็นฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่าในฤดูกาลอื่น เนื่องจากอากาศของจังหวัดเชียงรายเย็นสบาย ๆ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติที่เป็นป่าเขา เช่น ภูชี้ฟ้า ดอยแม่สลอง ดอยตุง สวนสมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวง ฯลฯ สำหรับในเชิงพระพุทธศาสนาหรือเชิงวัฒนธรรมนั้นมีบ้างในกลุ่มของผู้มีอายุตั้งแต่ ๔๕ ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ประกอบการการท่องเที่ยวก็เป็นส่วนสำคัญในการที่จะนำนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ส่วนในฤดูฝนจะมีนักท่องเที่ยวน้อย เนื่องจากไม่สะดวกกับการเดินทาง ในฤดูกาลนี้วัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายที่อยู่ในอำเภอเมืองเชียงราย จะได้รับความนิยมมากจากนักท่องเที่ยว ที่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ และเอกชนต่าง ๆ ที่เขาจัดประชุมสัมมนาในจังหวัดเชียงราย จะใช้เวลาที่ว่างจากการประชุมไปท่องเที่ยวกราบสักการะ ศึกษาศิลปวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่วัดจัดไว้ให้ศึกษาเรียนรู้  ส่วนด้านสถานการณ์ช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ฤดูกาลกฐิน เทศกาลปีใหม่ งานประจำปีของจังหวัด ฯลฯ  การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและเชิงวัฒนธรรมมีมาก ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า เกือบทุกคณะจะเข้าไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในวัด ในพิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่ที่ราชการจัดนิทรรศการด้านนี้ไว้ เช่น หอนิทรรศการ ๗๕๐ ปีเมืองเชียงราย พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว วัดพระแก้ว พิพิธภัณฑ์แม่ฟ้าหลวง เป็นต้น

                สำหรับปัจจัยที่เป็นเครื่องดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่เป็นศาสนวัตถุ พบว่า ศาสนวัตถุเป็นส่วนสำคัญอันดับแรกที่ทำให้วัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น วัดพระแก้ว มีพระอุโบสถแบบล้านนา หอพระแก้วหยก พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว ฯลฯ วัดร่องขุ่น มีอุโบสถสีขาว ห้องน้ำสีทอง อาคาร ที่พักเป็นระเบียบ ฯลฯ วัดพระธาตุผาเงา มีอุโบสถหลวงพ่อผาเงา หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ พิพิธภัณฑ์พ่อขุนเม็งราย ฯลฯ ปัจจับดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่เป็นศาสนบุคคล พบว่า ศาสนบุคคลก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้วัดเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวงที่มีพระ มหาเถระที่เป็นผู้ปกครองการคณะสงฆ์ระดับภาค ๖ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป มีบุคลากรประจำในสถานที่ให้ไปศึกษาเรียนรู้อยู่ คือ พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว เป็นต้น วัดร่องขุ่น มีอาจารย์เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป สามารถดึงดูดให้คนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ในผลงานของท่าน หรือศิลปวัฒนธรรมภายในวัดได้ วัดพระธาตุผาเงา มีพระมหาเถระด้านวิปัสสนาที่เป็นเจ้าอาวาสประจำอยู่ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ส่วนด้านศาสนธรรม พบว่า ศาสนธรรมนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ดึงดูดคนให้ไปศึกษา เรียนรู้  เช่น วัดพระแก้ว เป็นวัดที่ใช้หลักธรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามานาน ได้แก่ เป็นศูนย์การส่งเสริมการแข่งขันสรภัญญะแก่เด็กและเยาวชน เป็นศูนย์การศึกษาพระอภิธรรมภาคกลางค่ำ เป็นศูนย์การส่งเสริมให้ประชาชนนำบุตรหลานไปทำวัตรสวดมนต์วันเสาร์ ฯลฯ วัดร่องขุ่น มีภาพ กิจกรรมที่ใช้ศิลปะการปั้น และวาดโดยอาจารย์เฉลิมชัย  โฆสิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่แฝงไว้ ด้วยคติธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ฯลฯ วัดพระธาตุเงา ก็ใช้ศาสนธรรมด้านการฝึกสอน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นศูนย์การบ่มเพาะค่ายคุณธรรมแก่เยาวชน เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงของอำเภอเชียงแสน ฯลฯ นอกจากนี้ แต่ละวัดยังมีคติ คำคม สุภาษิต เขียนติดไว้ตามต้นไม้ สถานที่ทางเดิน อีกด้วย อันเป็นการเผยแพร่ ศาสนธรรมอีกประการหนึ่ง และด้านศาสนพิธี พบว่า แต่ละวัดมีศาสนพิธีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ซึ่งศาสนพิธีเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายได้ประกาศ และออกไปประชุมสัมมนาทุกอำเภอเกี่ยวกับการจัดศาสนพิธี เพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีของล้านนาได้เป็นอย่างดี เช่น การประกอบพิธีสืบชาตา จะมีนักท่องเที่ยวไปประกอบพิธีสืบชาตากันเป็นจำนวนมากในแต่ละปีที่ทางวัดจัด การทำบุญประเพณีต่างๆ ต้องอาศัยศาสนพิธีเป็นแกนนำในการรวมพลังสามัคคีของมวลชน และให้นักท่องเที่ยวได้ไปศึกษาเรียนรู้

                ด้านการจัดสถานที่ในวัดอย่างไรให้เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวหรือเยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ พบว่า บริเวณสถานที่ ปัจจุบันแต่ละแห่งมีความเหมาะสม และมีเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ละแห่งขาดผู้บรรยายนำเที่ยวในวัด ทำให้การศึกษาเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ ในมุมมองของการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาหรือเชิงวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ขณะนี้ทุกวัดมีความสะอาด ความเป็นธรรมชาติของตัวเองอยู่แล้ว ควรรักษาความสมดุลย์ที่มีอยู่นั้นให้อยู่ตลอดไป ส่วนแหล่งเรียนรู้ด้านวัตถุโบราณ อยากให้พิพิธภัณฑ์ หรือ สถานที่ที่แสดงวัตถุโบราณ พุทธศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งจะเป็นการเก็บรวบรวมของเก่าโบราณมาอนุรักษ์ไว้มาก ๆ จะเป็นการดี และแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ แต่ละวัดควรจะเพิ่มต้นไม้ในพุทธประวัติ ต้นไม้ในวรรณคดี ต้นไม้ที่เกี่ยวเมืองเชียงราย สวนสมุนไพรที่วัดพระธาตุผาเงานั้นควรจะเพิ่มคำอธิบายการใช้สมุนไพรแต่ละชนิดด้วย จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการเข้าไปศึกษาเรียนรู้

                ผลการศึกษาวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๔ เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคของวัดด้านการจัดแหล่งเรียนรู้ในวัด (อนุรักษ์พุทธศิลป์ วัฒนธรรมประเพณี) พบว่า

                     ๑.  ปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (ในวัด) ส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวนิยมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชมธรรมชาติ และแหล่งเริงรมย์เป็นหลัก นอกจากนั้นระยะทางการเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายมาก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระหว่างเดินทางก็เป็นอีกหนึ่งของปัญหาอุปสรรค 

                       ปัญหาอุปสรรคที่จัดแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ในวัดเกิดจากงบประมาณในการดำเนินการเป็นอันดับแรก อันดับรองลงมาได้แก่ หน่วยงาน องค์กร ที่วัดนั้นอยู่ในพื้นที่ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะร่วมพัฒนาวัด บุคลากรภายในวัดส่วนใหญ่ขาดความรู้  ประสบการณ์การจัดวัดให้เป็นสถานที่เรียนรู้ของนักท่องเที่ยว ชุมชนไม่ได้เข้าไปร่วมกับการแสดงความคิดเห็นในการบริหารจัดการเพราะเห็นว่าผู้ที่บริหารวัดนั้นมีภูมิความรู้อยู่แล้วไม่กล้าไปแสดงความคิดเห็น

             อภิปรายผล

                จากการศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษารูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย ได้พบประเด็นที่น่าสนใจควรทำการอภิปรายผลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประเด็นแรก สภาพการจัดการแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประเด็นที่สอง แนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประเด็นที่สาม ความคิดเห็นของพระสงฆ์และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนา และประเด็นที่สี่ ปัญหาอุปสรรคของวัดด้านการจัดแหล่งเรียนรู้ในวัด (อนุรักษ์พุทธศิลป์ วัฒนธรรมประเพณี) ซึ่งสามารถสรุปเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

๑)  ประเด็นแรก สภาพการจัดการแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย จำนวน ๓ แห่ง จะเห็นว่า การจัดรูปแบบและสภาพการแหล่งเรียนรู้หรือที่ท่องเที่ยวในวัดมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละวัด แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เข้าไปท่องเที่ยวในวัดเป็นกลุ่มผู้หญิงถึงร้อยละ ๕๔.๓๓ และได้แสดงความคิดเห็นถึงการจัดรูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสารประโยชน์ต่อผู้ท่องเที่ยวนั้นใน ๔ ด้าน ว่าแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีความค่าเฉลี่ยน้อยกว่าด้านอื่น ๆ ทั้งหมด นั้นแสดงให้เห็นว่า การจัดเขตพื้นที่ของวัดให้เป็นป่าธรรมชาติเช่นวัดป่าทั่วไปคงยาก เนื่องจากวัดทั้ง ๓ แห่งที่ใช้เป็นกรณีศึกษานี้เป็นวัดที่อยู่ในชุมชนเมือง แต่ก็สามารถจัดได้ตามสัดส่วนที่พอเหมาะกับสภาพของวัด เช่น วัดพระแก้ว อำเภอเมืองเชียงราย จะจัดเขตธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไว้รอบ ๆ พระอุโบสถ ซึ่งก็พอดี ๆ กับสภาพพื้นที่ ส่วนวัดร่องขุ่น ก็จัดเขตธรรมชาติไว้ตามจุดที่พักเป็นต้นไม้ให้ความร่มรื่นตามสภาพของวัด สำหรับวัดพระธาตุผาเงานั้นในส่วนด้านบนของวัดเป็นเนินเขา ป่าไม้ยังพออุดมสมบูรณ์ ดังนั้นทั้ง ๓ วัดดังกล่าวมีสภาพธรรมชาติแวดล้อมที่แตกต่างกันไปตามบริบทแต่ละวัดนั้นเอง จึงทำให้นักท่องเที่ยวเห็นว่า แหล่งเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับน้อย แต่ในขณะเดียวกันวัดทั้ง ๓ แห่งที่ใช้เป็นกรณีศึกษานี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งประเภทศิลปวัฒนธรรม ประเพณี กิจกรรม และประเภทประวัติศาสตร์ โบราณสถานและโบราณวัตถุด้วย ซึ่งสอดคล้องกับอิทธิวัตร ศรีสมบัติและคณะ ได้กล่าวถึงประเภทของทรัพยากรท่องเที่ยวว่า การจำแนกประเภทของทรัพยากรการท่องเที่ยวเป็น ๓ ลักษณะคือ (๑) ทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และกิจกรรม รวมถึงสิ่งที่ตกทอดตามประเพณีโบราณมาสู่ชนรุ่นหลัง (๒) ทรัพยากรประเภทประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ หมายถึงพื้นที่ หลักฐาน และร่องรอยทางกายภาพที่เหลืออยู่ และ (๓) ทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  หมายถึง ทรัพยากรทั้งทางกายภาพและชีวภาพ

                     ๒.  ประเด็นที่สอง แนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว           จะเห็นว่านักท่องเที่ยวได้เสนอแนวทางการพัฒนาว่า ควรให้มีตู้ระบบมัลติมีเดียที่บรรจุแผนผังของวัดไว้แล้วนักท่องเที่ยวสามารถกดดูจุดต่าง ๆ ภายในวัดได้ จากข้อเสนอนี้คณะผู้วิจัยเห็นว่า น่าจะมาจากแต่ละวัดไม่มีผู้บรรยายให้แก่นักท่องเที่ยวทุกจุดของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งเรียนรู้ที่มีในวัด ทำให้เกิดความคิดที่อยากจะช่วยให้วัดสามารถให้ความรู้แก่ผู้เข้าไปท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึงทุกจุด เนื่องจากบางแห่งไม่มีความอธิบายใด ๆ ไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะแต่ละวัดมีทั้งแหล่งที่เป็นโบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือพุทธศิลป์ สถาปัตยกรรมที่ควรแก่ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไปท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน/เยี่ยมญาติ และทำธุรกิจส่วนตัว เป็นลำดับต้น ๆ จึงต้องการได้ข้อมูลจากการท่องเที่ยวกลับไปเล่าให้ลูกหลานญาติพี่น้องที่อยู่ทางบ้านได้รับรู้รับทราบด้วย ซึ่งสอดคล้องกับจารุวรรณ ธนะกิจ รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง รูปแบบการสื่อความหมายสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษาวัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พบว่า ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทย ในการสื่อความหมายโดยใช้บุคคล ได้แก่ ยุวมัคคุเทศก์ ผู้บริการข้อมูล มัคคุเทศก์ท้องถิ่น และในการสื่อความหมายโดยไม่ใช้ใช้บุคคล ได้แก่ หนังสือคู่มือนำเที่ยว สื่อมัติมิเดียหรือสื่อผสม และป้ายข้อมูล

                     ๓.  ประเด็นที่สาม ความคิดเห็นของพระสงฆ์และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนา ประเด็นนี้ที่น่าสนใจ คือ ปัจจัยที่เป็นเครื่องดึงดูดใจนักท่องเที่ยวในวัดทั้ง ๓ แห่งที่ทำการวิจัย จะเห็นว่า แต่ละวัดจะมีสิ่งดึงดูดใจไม่เหมือนกัน กล่าวคือ วัดร่องขุ่นมีสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวคือบุคคลหรือ ศาสนบุคคลก็ว่าได้ เพราะท่านผู้นี้ได้ปวารณาตัวเองว่าจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ นั้นคือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์  ศิลปินแห่งชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่านักท่องเที่ยวจะไปชมความงามของสถาปัตยกรรมอุโบสถสีขาวที่ออกแบบและสร้างโดยศิลปินแห่งชาติ ผู้นี้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ศาสนวัตถุที่เป็นสถาปัตยกรรมของอุโบสถสีชาวเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เป็นการท่องเที่ยวหาความรื่นรมย์ สวยงามของศิลปะ ของสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ตื่นตา แปลกใหม่อลังการ นักท่องเที่ยวได้รับอรรถรสด้านสุนทรียภาพอันวิจิตรตระการตา สำหรับวัดร่องขุ่นถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งก็คือเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทความสนใจพิเศษ กล่าวคือสนใจในศิลปะร่วมสมัยที่สรรค์สร้างโดยศิลปินแห่งชาติอย่างเช่นอาจารย์เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์ ที่ว่าเป็นประเภทสนใจพิเศษ ก็หมายถึงการท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษาหรือศาสนา (Edu-meditation tourism) เป็นการเดินทางไปเพื่อทัศนศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากปรัชญาทางศาสนา หาความรู้ สัจธรรมแห่งชีวิต เพื่อมีประสบการณ์และความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังมีความเห็นว่า ศิลปกรรมไทยเป็นสิ่งควรช่วยกันอนุรักษ์และศึกษา กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชอบ น่าจะเป็นการเที่ยวชมศิลปกรรมความสวยงามของวัด และประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวได้รับจากการเดินทางมาเที่ยวในวัดคือ การได้ผ่อนคลายความเครียด เกิดความสบายใจ และได้พัฒนาจิตใจให้สงบ ซึ่งสอดคล้องกับวัชราภรณ์ ระยับศรี  (อ้างในสุดาทิพย์ นันทโชค)  ได้กล่าวว่า นักท่องเที่ยวมีความเห็นว่า ศิลปกรรมไทยเป็นสิ่งควรช่วยกันอนุรักษ์และศึกษา กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชอบ ได้แก่ การเที่ยวชมศิลปกรรมความสวยงามของวัด และประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวได้รับจากการเดินทางมาเที่ยววัดคือ การได้ผ่อนคลายความเครียด เกิดความสบายใจ และได้พัฒนาจิตใจให้สงบ และเหมือนกับที่บุญเลิศ ตั้งจิตวัฒนาได้กำหนดรูปแบบการท่องเที่ยว ไว้ ๓ แบบ เพื่อตอบสนองความต้องการท่องเที่ยว โดยมีรูปแบบในการท่องเที่ยว คือ (๑) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ หมายถึงการท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ โดยประกอบด้วย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (๒) รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม หมายถึง การท่องเที่ยว ในแหล่งประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวงานชมวัฒนธรรมและประเพณี และการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชนบท และ (๓) รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ หมายถึง การท่องเที่ยวที่ผสมผสานการท่องเที่ยว กับความต้องการอื่นเพิ่มเติมซึ่งประกอบด้วยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษาและศาสนา การท่องเที่ยวเพื่อศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมกลุ่มน้อย การท่องเที่ยวเชิงกีฬา  การท่องเที่ยวแบบผจญภัย การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์และฟาร์มสเตย์ และการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว

                     ๔.  ประเด็นที่สี่ ปัญหาอุปสรรคของวัดด้านการจัดแหล่งเรียนรู้ในวัดเกี่ยวกับการอนุรักษ์พุทธศิลป์ วัฒนธรรมประเพณี ประเด็นนี้จากการวิจัยพบว่า ปัญหาอุปสรรคการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (ในวัด) ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวนิยมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชมธรรมชาติและแหล่งเริงรมย์เป็นหลัก ประเด็นนี้คณะผู้วิจัยเห็นว่า นักท่องเที่ยวไม่มีแนวคิดที่จะไปท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาหรือท่องเที่ยวในวัด อาจเกิดจากพื้นฐานเดิมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่าที่ควร แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ไปท่องเที่ยวในวัดส่วนใหญ่มีอายุเลย ๕๐ ปีไปแล้วนั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาเป็นกลุ่มที่มีอายุ ดั้งนั้นคณะผู้วิจัยจึงเห็นว่า ปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหรือเชิงพระพุทธศาสนาน่าจะมาจาก ๓ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ฝ่ายของผู้ประกอบการท่องเที่ยว  และฝ่ายของนักท่องเที่ยว ฝ่ายแรกคือฝ่ายทางวัด (ยกเว้นวัดร่องขุ่น อำเภอเมืองเชียงราย) อาจไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้รับทราบว่า วัดบริหารจัดการวัดให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้อะไรบ้าง  ไม่ได้นำผลงานของวัดไปเผยแพร่แก่สาธารณชน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่รู้จึงไม่ได้เข้าไปท่องเที่ยวในวัด หรือมิฉะนั้นก็บริหารจัดการวัดไม่เป็นระบบ ไม่มีสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยว หรืออาจจะมีงบประมาณในการจัดทำไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ และอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องที่ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งทำให้การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ฝ่ายที่สองคือ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวไม่ได้แนะนำหรือจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหรือเชิงพระพุทธศาสนาไว้ในรายการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเน้นการท่องเที่ยวที่เป็นสถานที่สนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจในด้านตรงข้ามกับวัฒนธรรมหรือทางพระพุทธศาสนา ฝ่ายที่สามคือ ตัวของนักท่องเที่ยวเอง นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวหรือศึกษาเรียนรู้ในวัดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมจากผู้ปกครอง หรือติดตามผู้ปกครองไปวัดตั้งแต่เล็ก ๆ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ตรงข้ามกันจะเข้าไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหรือเชิงพระพุทธศาสนามีน้อย ซึ่งสอดคล้องกับที่ ณัฐพงษ์ สีบุญเรือง และคณะ ได้ศึกษาเรื่อง ปัจจัยทางจิตสังคมที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา พบว่า นักศึกษาที่ได้รับการอบรมมาก มีแบบอย่างมาก และรับข่าวสารมากเป็นผู้มีพฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา (พฤติกรรมการบริโภคการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา) มากกว่านักศึกษาที่ได้รับการอบรมน้อย มีแบบอย่างน้อย และรับข่าวสารน้อย

                ส่วนวัดพระแก้ว อำเภอเมืองเชียงราย และวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสนนั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไปกราบสักการะพระพุทธปฏิมากร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดเป็นอันดับแรก คือ วัดพระแก้ว จะไหว้กราบสักการะขอพรจาก “พระหยกเชียงราย” ก่อน แล้วจึงไปยังสถานที่อื่น ๆ  ส่วนวัดพระธาตุผาเงา ก็จะไปกราบสักการะขอพรจาก “หลวงพ่อผาเงา” นั้นน่าจะเกิดจากกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป สถานที่ และชื่อเสียงของพระมหาเถระที่เป็นเจ้าอาวาส หรือเกจิอาจารย์ เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เข้าไปกราบไหว้ขอพร ซึ่งสอดคล้องกับสุดาทิพย์  นันทโชค ได้กล่าวไว้ว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความเห็นว่าสิ่งดึงดูดใจที่ทาให้ตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดคือ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปและความมีชื่อเสียงของเกจิอาจารย์ ซึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทาเป็นประจามากที่สุดเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวคือ การนมัสการไหว้พระ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คิดว่าการมาทาบุญก็เพื่อเป็นการเพิ่มบุญกุศลและความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว 

                แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในปัจจุบันจะขาดวัดซึ่งเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทยไปไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน ๆ ก็ตาม  การที่จะทำวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งศึกษาเรียนรู้แก่ผู้เข้าไปท่องเที่ยวในวัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมไทย เพื่อเป็นการจัดการให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแก่ชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จะเป็นปีเปิดโลกอาเซียนด้านเศรษฐกิจ ที่เรียกว่าสมาคมอาเซียนแล้ว คาดว่านักท่องเที่ยวจากสมาคมอาเซียนน่าจะเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัย มีประวัติศาสตร์ชาติไทยก็คือ “พระพุทธศาสนา” แต่ทุกวันนี้การจัดการวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นจะเป็นการจัดการเฉพาะวัดนั้น ๆ เท่านั้น ยังขาดความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรภาครัฐ และเอกชน ในการเข้าไปพัฒนา ถ้าหากหน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาก็จะสามารถให้วัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ยั่งยืนได้ไปตราบนานเท่านาน ดังนั้นจึงเห็นว่าวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างยิ่ง จากภาครัฐและเอกชนจะได้รักษาอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของไทยไว้เป็นมรดกของลูกหลานสืบไป

 

ข้อเสนอแนะ

 

             จากการศึกษาวิจัยเรื่องรูปแบบและสภาพแหล่งเรียนรู้ของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้และปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ มีข้อเสนอแนะดังนี้

                .  วัดทั้ง ๓ แห่งนำผลงานวิจัยไปปรับปรุงพัฒนารูปแบบและสภาพภูมิทัศน์ภายในวัด ตลอดถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในวัดให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวและยั่งยืนต่อไป

                ๒.  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนนำไปสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เชิงพุทธศาสนาและเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้อย่างมีคุณค่าและครบวงจร

.  ในด้านของสถานการณ์ด้านการตลาดการท่องเที่ยว วัดต่าง ๆ สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนารูปแบบในการจัดสภาพภายในวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพื่อเตรียมเปิดวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนในปี ๒๕๕๘

๔.  คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนและพัฒนาตลาดการท่องเที่ยว เชิงพระพุทธศาสนาและเชิงวัฒนธรรม ให้ทุกวัดเกิดการพัฒนาตามศักยภาพ โดยพิจารณาในด้านความแตกต่าง ปัจจัยและผลกระทบที่มีต่อการแบ่งส่วนตลาดในการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรม ในเขตจังหวัดเชียงราย

.  หน่วยงานของรัฐ เอกชน และคณะสงฆ์ใช้พัฒนาในด้านของการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในเขตจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Internet) การจัดงานท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย และการเดินทางไปร่วมงานท่องเที่ยวของจังหวัดอื่นเพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

๖.  อาจารย์ นักวิชาการ นิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย             และนักท่องเที่ยวให้ความสนใจและนำข้อมูลการวิจัยไปบูรณาการ พัฒนากับกิจกรรมของตนเอง เช่น บูรณาการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสังคม การจัดเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ ฯลฯ

๗.  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มการท่องเที่ยวในเชียงราย ภาคเอกชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ควรมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของวัดต่าง ๆ ในระยะยาว

 

เอกสารอ้างอิง

 

๑. หนังสือ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  นโยบายและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์.  กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ๒๕๕๑.

________.  Home Stay – Farm Stay.  กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ๒๕๕๒.

ภิรมย์  กมลรัตนกุล.  การเขียนโครงร่างงานวิจัย.  คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

              ๒๕๕๐.

มานิตย์  ผิวขาว.  ระเบียบวิธีการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์.  ขอนแก่น : วิทยาเขตหนองคาย, ๒๕๕๐.  

วัดพระธาตุผาเงา.  ประวัติวัดพระธาตุผาเงา : งานจุลกฐินประจำปี ๒๕๕๔.  จังหวัดเชียงราย : เชียงรายไพศาลการพิมพ์,

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.  ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.  กรุงเทพฯ: คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ๒๕๕๓.

 

๒.  รายงานการวิจัย

ณัฐพงษ์  สีบุญเรืองและคณะ.  ปัจจัยจิตสังคมที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา.  คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมาคลธัญบุรี. ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมาคลธัญบุรี, ๒๕๕๒.

จารุวรรณ  ธนะกิจ.  รูปแบบการสื่อความหมายสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษา วัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา.  สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยว หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ๒๕๕๕.

 

๓.  วารสาร/ จุลสาร

สุธนา  บุญศรี และคณะ.  ศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติจังหวัดตากกับการ        ออกแบบ และการจัดการทางสถาปัตยกรรม.  วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ : ๖ ฉบับที่ : ๒๕๕๐.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕