หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย ดร.ประพันธ์ ศุภษร » มหานิทเทส : คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์แห่งการขยายความพุทธธรรมยุคต้น
 
เข้าชม : ๒๔๙๔๓ ครั้ง

''มหานิทเทส : คัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์แห่งการขยายความพุทธธรรมยุคต้น''
 
ดร.ประพันธ์ ศุภษร (2551)

๑. ความนำ

มหานิทเทส เป็นชื่อของพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม และจัดอยู่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่ ๕ คัมภีร์นี้ได้เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์สายพระพุทธศาสนาเถรวาทว่าเป็นผลงานของสารีบุตร อัครสาวกของพระพุทธเจ้า

เนื้อหาของคัมภีร์กล่าวถึงเรื่องกาม การข้องอยู่ในเบญจขันธ์ การกล่าวประทุษร้ายกันด้วยมานะทิฏฐิ การพิจารณาความหมดจด การยึดถือทิฏฐิที่เยี่ยม การพรรณนาชีวิตและความตาย การถามถึงวิธีหลีกออกจากเมถุนธรรม การยึดมั่นศาสดาตนและการดูหมิ่นศาสดาอื่น มาคันทิยพราหมณ์ถามปัญหาและฟังธรรม ทัศนะและศีลของพระอรหันต์ สาเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท การวิวาทกันด้วยทิฏฐิขนาดเล็ก(ทิฏฐิที่สำนักตนยึดถือ) และขนาดใหญ่(ทิฏฐิ ๖๒) การกำจัดบาปอย่างเร็วพลัน ความกลัวที่เกิดจากโทษของตน การสรรเสริญพระพุทธคุณ และการถามปัญหาของพระสารีบุตรเถระ

รูปแบบการอธิบายธรรมในมหานิทเทส เป็นการนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ในรูปคาถามาอธิบายความให้มีนัยที่ละเอียดกว่าเดิม โดยอธิบายในรูปของร้อยแก้ว ใช้เทคนิคและวิธีการนำเสนอที่ต่างไปจากพระสุตตันตปิฎกเล่มอื่น กล่าวคือนำเสนอด้วยการนำพระพุทธภาษิตมาเป็นบทตั้ง แล้วอธิบายขยายความแต่ละศัพท์ แต่ละบท แต่ละบาทของคาถาที่นำมาตั้งนั้นไปตามลำดับจนชัดเจนทุกประเด็น ด้วยการอ้างพระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรมมารับรองอย่างเหมาะสมเพื่อให้น่าเชื่อถือและไม่ทิ้งหลักฐานคัมภีร์ ในตอนสุดท้ายของการอธิบาย ได้นำเอาบทตั้งมาสรุปอีกครั้ง

วิธีการนำเสนอพุทธธรรมดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้วิจัยเกิดคำถามว่า กรอบแนวคิดในการอธิบายธรรมในลักษณะนี้มีปรากฏในพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีมาก่อน พระสารีบุตรได้แนวคิดนี้มาจากไหน ถ้ามีมาก่อน รูปแบบและกรอบแนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในลักษณะเช่นไร และที่สำคัญคือมหานิทเทสได้รับการยอมรับว่าเป็นพระไตรปิฎกเล่มหนึ่งในจำนวน ๔๕ เล่ม (นับตามแบบไทย) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ามหานิทเทสจะต้องมีความสำคัญอย่างมากทั้งในระดับเนื้อสาระและรูปแบบการนำเสนอ จนทำให้พระสังคีติกาจารย์ได้ยกย่องและนำสืบทอดกันมา ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้ตั้งสมมติฐานในการศึกษาว่ามหานิทเทสเป็นคัมภีร์ว่าด้วยศาสตร์แห่งการอธิบายขยายความพุทธธรรมเพื่อการหยั่งรู้สัจจะผ่านกระบวนการภาษาในเชิงปริยัติศาสนา และเป็นแม่แบบในการอธิบายธรรมของพระอรรถาจารย์ในยุคต่อมา

การศึกษาคัมภีร์มหานิทเทสครั้งนี้ ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ คือ (๑) เพื่อศึกษากรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ในการอธิบายธรรม (๒) เพื่อศึกษารูปแบบวิธีการอธิบายธรรมในมหานิทเทส (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลของคัมภีร์มหานิทเทสที่มีต่อวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในยุคต่อมา

สำหรับประโยชน์ในการศึกษาครั้งนี้คือ ได้ทราบกรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ วิธีการอธิบายธรรมตามแนวคัมภีร์มหานิทเทสชัดเจนยิ่งขึ้น ได้ทราบรูปแบบวิธีการอธิบายธรรมในมหานิทเทส และอิทธิพลของมหานิทเทสต่อวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในยุคต่อมา

การวิจัยครั้งนี้จะวิจัยเฉพาะเอกสารเท่านั้น โดยศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฎีกาและคันถันตระอื่นๆ ตลอดทั้งหนังสือ ตำราและผลงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อมูลในส่วนนี้แล้ว ก็จะได้นำมาศึกษาวิเคราะห์ถึงกรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ในการอธิบายมหานิทเทส วิธีการอธิบายขยายความพุทธธรรมของพระสารีบุตร และอิทธิพลของคัมภีร์มหานิทเทสต่อวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในยุคต่อมา และในขั้นสุดท้าย ก็จะได้นำเสนอข้อมูลจากเอกสารที่ได้ค้นคว้าต่อไป อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัดด้วยเรื่องเวลา ดังนั้นจึงไม่สามารถศึกษารายละเอียดทุกแง่มุมได้ งานวิจัยนี้จึงเป็นงานบุกเบิกเพื่อเป็นพื้นฐานนำไปสู่การศึกษาอย่างละเอียดต่อไป

๒. ปราชญ์ผู้แต่งคัมภีร์มหานิทเทส

๒.๑ ชีวประวัติและผลงานของพระสารีบุตรเถระ

พระสารีบุตรมีชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์และนางสารีพราหมณี เมื่อเจริญวัยได้รับการศึกษาศิลปวิทยาตามธรรมเนียมของพราหมณ์เป็นอย่างดี ต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายในการครองเรือนจึงชวนเพื่อนชื่อโกลิตะซึ่งต่อมาคือพระโมคคัลลานะ ออกบวชเป็นปริพาชกในสำนักของครูสัญชัย แต่ท่านทั้งสองก็มองเห็นความไร้สาระแห่งคำสอนของครูสัญชัย จึงได้ออกจากสำนักนี้แสวงหาโมกษะ กระทั่งได้พบกับพระอัสสชิและได้ฟังธรรมจนบรรลุโสดาบัน จากนั้นท่านทั้งสองและบริวารจึงไปลาครูสัญชัยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา หลังจากบวชแล้วไม่นาน พระเถระทั้งสองก็ได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ มีความแตกฉานในพุทธธรรมจนได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสาวก โดยที่พระสารีบุตรผู้เลิศทางปัญญาได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา และตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี ส่วนพระมหาโมคคัลลานะผู้เลิศทางฤทธิ์เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ซึ่งท่านทั้งสองได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พุทธธรรม

พระสารีบุตรได้แสดงถึงความเป็นผู้เลิศทางปัญญาในคราวที่ฟังธรรมจากพระอัสสชิผู้เป็นปฐมาจารย์ของท่าน ซึ่งในครั้งนั้นท่านได้ฟังธรรมโดยย่อเพียงคาถาเดียวเท่านั้น ก็สามารถบรรลุโสดาบัน นอกจากนี้ท่านยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิดคือแนะนำให้กุลบุตรตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ส่วนพระโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้คอยเลี้ยงบุตรให้เจริญเติบโต คือแนะนำในประโยชน์ที่สูงสุด พระสารีบุตรได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรแก่พระภิกษุทุกรูป หมั่นสอบถามและสนทนาธรรมกับบริษัทอยู่เสมอ ช่วยแก้ปัญหาสังฆเภทที่พระเทวทัตต์ก่อขึ้น เป็นต้น มีความเคารพต่ออาจารย์ และมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ มีความอดทนเป็นเลิศ ได้ชักชวนน้องชายและน้องสาวเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย และที่สำคัญท่านกลับใจมารดาบิดาซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิได้สำเร็จ

ต่อมาเมื่อพระสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น การประพฤติปฏิบัติก็เริ่มแตกต่างกัน อีกทั้งประจวบกับเหตุการณ์ที่ศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีพ เหล่าสาวกแตกแยกกันเพราะสาเหตุแห่งคำสอน พระสารีบุตรจึงได้กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา และได้ริเริ่มจัดหมวดหมู่พระธรรมไว้ในสังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นดิกชันนารี่หมวดธรรมในพระพุทธศาสนาชุดแรก โดยจัดหมวดธรรมตั้งแต่ธรรมข้อเดียวจนถึงหมวดธรรม ๑๐ ข้อไว้เป็นหมวด ๆ ง่ายต่อการท่องจำและสาธยาย ผลงานเหล่านี้ถือเป็นแม่แบบในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยในเวลาต่อมา โดยพระอานนท์ผู้ซึ่งเคารพในพระสารีบุตรเป็นผู้สืบทอดแนวคิดนี้เสนอต่อพระสังคีติกาจารย์

ผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงภูมิปัญญาของท่านอีกส่วนหนึ่งคือคัมภีร์มหานิทเทส จูฬนิทเทส และปฏิสัมภิทามรรค (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๙, ๓๐,๓๑ ตามลำดับ) กล่าวกันว่ามหานิทเทสและจูฬนิทเทสเป็นการอธิบายธรรมแนวพระสูตร ส่วนปฏิสัมภิทามรรคเป็นการอธิบายธรรมแนวพระอภิธรรม ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ แต่ในที่นี้จะศึกษาเฉพาะมหานิทเทสเท่านั้น ดังจะได้นำเสนอต่อไป

๒.๒ วิเคราะห์พื้นฐานทางความคิดของพระสารีบุตร

สำนักครูสัญชัยเป็นสำนักหนึ่งในบรรดาครูทั้งหก ที่เป็นคู่แข่งกับพระพุทธศาสนา แนวคิดของสำนักนี้มีลักษณะซัดส่ายไม่ตายตัว เรียกตามศัพท์บัญญัติว่า อมราวิกเขปกะ การไม่ปักใจสรุปสรรพสิ่งว่าต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้นในลักษณะคงที่ ลักษณะเช่นนี้อาจเป็นพื้นฐานให้อุปติสสมาณพเป็นคนชอบคิดไตร่ตรองและไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ ก็ได้ เพราะเมื่อมนุษย์ยังหาข้อสรุปไม่ได้ย่อมแสวงหาคำตอบจนกว่าจะค้นพบความจริง แต่ก็มิใช่ว่าศิษย์ของครูสัญชัยจะเป็นอย่างนี้ทุกคน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราพอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจคือแนวคิดทฤษฎีของแต่ละสำนักย่อมติดเป็นนิสัยของเหล่าศิษย์ไปบ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อพระสารีบุตรเข้ามาศึกษาในพระธรรมวินัย ซึ่งมีระบบวิธีการและแนวปฏิบัติที่ตรงไปสู่การพัฒนาปัญญา จึงเป็นเสมือนการกะเทาะเปลือกอวิชชาของท่านให้แตกออก เปิดโลกทัศน์ชีวทัศน์ตามแนวพุทธด้วยการมองสรรพสิ่งตามความเป็นจริง มองเห็นทางเดินอันประเสริฐของชีวิตอย่างชัดเจน ซึ่งหากมองอย่างยุติธรรมและตัดเรื่องบุญญาธิการออกแล้ว แนวคิดสำนักครูสัญชัยน่าจะเป็นพื้นฐานทางปัญญาได้ดีระดับหนึ่ง เพียงแต่เราขาดหลักฐานข้อมูลแห่งคำสอนของสำนักนี้อยู่มาก จึงทำให้เราเห็นว่าคำสอนของครูสัญชัยดูไร้สาระ เพราะหากเป็นลัทธิที่ไร้สาระจริงแล้ว ไฉนผู้มีปัญญาอย่างพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะจึงไปเป็นศิษย์ของสำนักนี้เล่า แม้เมื่อพระเถระทั้งสองได้บรรลุโสดาบันแล้วก็ยังมีน้ำใจกลับไปชวนครูสัญชัยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า นี้ก็แสดงให้เห็นว่าความเป็นครูและศิษย์มีมากทีเดียว

๒.๓ ความเป็นมาของคัมภีร์มหานิทเทส

มหานิทเทส เป็นคัมภีร์แนวอรรถกถาเล่มแรกของพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่พระสารีบุตรนำเอาพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในรูปคาถา มาอธิบายในเชิงปริยัติเชื่อมโยงกับปฏิบัติอย่างละเอียด สมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะ พระพุทธพจน์ที่นำมาขยายความนี้ปรากฏอยู่ในอัฏฐกวรรค มีพระสูตร ๑๖ สูตร จัดเป็นเนื้อหาของมหานิทเทส ซึ่งเนื้อหาแห่งคัมภีร์ได้นำมาจากสุตตนิบาตแห่งขุททกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕

การนำพระสูตรมาอธิบายในเชิงปริยัติ ท่านได้นำคำว่า นิทเทส มาต่อท้ายทุกพระสูตร ทุกพระสูตร เช่น พระสูตรเดิมคือ กามสุตต + นิทเทส จึงเป็น กามสุตตนิทเทส แปลว่าการแสดงหรือการขยายความพระสูตรที่ว่าด้วยกาม รูปแบบแห่งการนำเสนอแนวนี้เป็นการขยายความพระพุทธพจน์ให้เห็นแง่มุมที่หลากหลายและลึกซึ้ง จากภาษาร้อยกรองที่จำกัดอยู่ในรูปแบบฉันทลักษณ์มาเป็นภาษาร้อยแก้วที่มีอาณาบริเวณเปิดกว้างให้แก่การใช้ถ้อยคำที่หลากหลาย เสมือนเปิดโลกทัศน์ทางภาษาแก่นักเผยแผ่ที่ชอบคิดชอบสร้างสรรค์วรรณกรรมให้ได้มีเวทีแสดงภูมิปัญญาของตนอย่างเต็มที่

ตามปกติ การนำเสนอพุทธธรรมตามแนวพระสูตรทั่วไป มักจะเริ่มด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน… ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่พระเชตวันเมืองสาวัตถี… ข้าพเจ้าในพระสูตรหมายถึงพระอานนท์ ซึ่งเป็นผู้ทรงจำพระสูตรได้มากที่สุด เป็นการทรงจำแบบมุขปาฐะ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างไรก็จำไว้อย่างนั้นไม่มีการเพิ่มเติม

ส่วนมหานิทเทสจะเริ่มด้วยคำว่า อถ กามสุตฺตนิทฺเทสํ วกฺขติ พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายกามสูตรดังต่อไปนี้… ทำให้เห็นชัดว่ามหานิทเทสเป็นรูปแบบการอธิบายความพระพุทธพจน์ ไม่ใช่รูปแบบการทรงจำพระพุทธพจน์ ทั้งไม่ระบุถึงที่มาของพระสูตรว่าแสดงแก่ใคร ที่ไหน อย่างไร แต่นำเสนออย่างอิสระจากกรอบเดิม โดยตั้งคาถาอุทเทส แล้วแยกวิเคราะห์แต่ละศัพท์ แต่ละบท และแต่ละบาทอย่างเป็นระบบ ทุก ๆ นิทเทสจะจบสมบูรณ์อยู่ในตัว และในตอนท้ายได้นำคาถาอุทเทสมาเป็นบทสรุปทุกครั้ง

ด้วยรูปแบบการนำเสนอและภาษาที่ใช้ต่างไปจากแนวเดิม(แนว เอวมฺเม สุตํ)นี้ ทำให้นักวิชาการบางท่านมองว่าคัมภีร์นี้รจนาภายหลังพุทธกาลและผู้แต่งไม่น่าจะเป็นพระสารีบุตรรูปเดียว หากแต่เป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวการสอนของพระสารีบุตร ข้อสันนิษฐานนี้มีความเป็นไปได้แต่ยังขาดหลักฐานสนับสนุน แม้ว่าเราจะมีพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาอยู่มากก็ตาม หลักฐานดังกล่าวมุ่งบันทึกธรรมประวัติมากกว่าที่จะเป็นเชิงชีวประวัติ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังมีหลักฐานคือภาษาศาสตร์ที่บันทึกคัมภีร์ ให้ศึกษาเทียบเคียงกับภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้ จึงขอฝากประเด็นนี้ไว้สำหรับนักวิจัยทางศาสนาได้ศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป

๒.๓.๑ การจัดมหานิทเทสเข้าในนวังคสัตถุสาสน์

พระพุทธโฆสาจารย์ ซึ่งเป็นพระอรรถกาจารย์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ได้จัดคัมภีร์นิทเทสเข้าในส่วนของสุตตะแห่งนวังคสัตถุสาสน์ ในอรรถกถาเนตติปกรณ์ซึ่งเป็นผลงานของพระธรรมปาลเถระ พระอรรถกถาร่วมรุ่นกับพระพุทธโฆสาจารย์ก็รวมนิทเทสเข้าในสุตตะเช่นกัน แต่พระอุปเสนเถระเห็นแย้งว่ามหานิทเทสเป็นคำสอนประเภทคาถาและเวยยากรณะ และพระสารีบุตร(ชาวลังกา) มีความเห็นต่างอีกมุมว่า มหานิทเทสควรจัดเข้าในส่วนของเวยยากรณะมากกว่า การจัดเข้าในคาถาไม่เหมาะ เพราะท่านพระสารีบุตร(สมัยพุทธกาล)ได้นำมาอธิบายขยายความจนเนื้อหาสาระเปลี่ยนไปจากรูปของคาถาแล้ว ดังข้อความว่า

ในที่บางแห่งการรวมนิทเทสเข้ากับเวยยากรณะเป็นการเหมาะสมเพราะมีสภาพเป็นปุจฉาและวิสัชชนา แต่รวมเข้ากับคาถาไม่เหมาะสม พระพุทธพจน์ที่ผูกเป็นคาถาล้วน ๆ เช่นธรรมบทเป็นต้นก็เป็นนิมิตหมายที่จะต้องจัดเข้าในคาถาได้ เพราะธรรมบทเป็นคาถาล้วน ๆ และตั้งชื่อว่าคาถาอยู่แล้ว แต่จะอ้างว่านิทเทสก็เป็นคาถาล้วน ๆ อย่างนั้นไม่ได้ เพราะพระธรรมเสนาบดีได้ขยายความคาถาที่ตรัสไว้ในอัฏฐกวรรคแล้ว

จากประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยมองว่า ความเห็นของพระอุปเสนะที่จัดมหานิทเทสเข้าในคาถาและเวยยากรณะนั้นก็มีเหตุผล เพราะเนื้อหาของมหานิทเทส(รวมทั้งจูฬนิทเทส)มีครบทั้งสองอย่าง กล่าวคือตอนเริ่มต้นคัมภีร์จูฬนิทเทส ตั้งแต่ วัตถุกถา จนถึง ปารายนานุคีติกถา เป็นคาถาล้วนและเป็นลักษณะคำถามคำตอบ ส่วนทัศนะของพระสารีบุตร(ชาวลังกา) ที่กล่าวว่ามหานิทเทสเหมาะที่จะจัดเป็นเวยยากรณะ ก็ดูมีเหตุผลไม่น้อย เพราะท่านใช้ธรรมบทมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามพระสารีบุตร(ชาวลังกา) ก็ยังเปิดโอกาสให้ค้นหาเหตุผลอื่นและยึดมติที่ถูกต้องร่วมกัน

๒.๓.๒ จากคำว่า “นิทเทส” กลายเป็นมหานิทเทส จูฬนิทเทส

เดิมทีคัมภีร์มหานิทเทสมีชื่อว่านิทเทส และมีเล่มเดียว ตามที่ปรากฏในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ดังข้อความว่า “ขุททกนิกาย ๑๕ ประเภท คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค อปทาน พุทธวงศ์ จริยาปิฎก” ตามลำดับนี้ นิทเทสจึงจัดเป็นคัมภีร์ลำดับที่ ๑๑ และในคัมภีร์สัทธัมมัปปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส พระอุปเสนเถระเรียกคัมภีร์นี้ว่า มหานิทเทส ในตอนเริ่มต้นรจนาคัมภีร์มีคันถารัมภกถา แต่ในตอนจบมหานิทเทสไม่มีนิคมคาถา ส่วนในจูฬนิทเทส ตอนเริ่มต้นรจนาคัมภีร์ไม่มีคันถารัมภกถา แต่ตอนจบมีนิคมคาถา โดยปกติคันถารัมภกถา และนิคมคาถานี้ จะปรากฏอยู่ในคัมภีร์เล่มเดียวกัน แต่อรรถกถามหานิทเทสและจูฬนิทเทสกลับปรากฏว่ามีคำทั้งสองนี้อยู่คัมภีร์ละอย่าง จึงทำให้แน่ใจว่าเบื้องต้นคัมภีร์ทั้งสองรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน

นอกจากนี้เนื้อหาของอรรถกถามหานิทเทสมีเนื้อความยาวถึง ๔๘๐ หน้า (ฉบับ มจร.) ส่วนอรรถกถาจูฬนิทเทสมีเนื้อหาสั้นมากเพียง ๑๐๐ หน้าเท่านั้น ทั้งนี้เพราะคำอธิบายส่วนมากได้อธิบายไว้แล้วในอรรถกถามหานิทเทส จึงสามารถยืนยันได้ว่ามหานิทเทสและจูฬนิทเทสรวมอยู่เล่มเดียวกัน

ต่อมาได้แบ่งออกเป็น ๒ เล่ม เรียกว่ามหานิทเทสและจูฬนิทเทส การแบ่งนี้ปราชญ์ทั้งหลายสันนิษฐานว่าน่าจะแบ่งที่ลังกา เพราะปรากฏชื่อคัมภีร์ทั้งสองนี้ในคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ซึ่งเป็นผลงานของพระสารีบุตรเถระชาวลังกาได้รจนาขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐ ในรัชสมัยของพระเจ้าปรกมพาหุที่ ๑ แห่งลังกา ความว่า “ที่ชื่อว่านิทเทส ได้แก่การแสดงไข ที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระได้กระทำไว้ตามเยี่ยงอย่างของพระศาสดาเกี่ยวกับการอธิบายความนั้นแห่งอัฎฐกวรรค อันมาแล้วในสุตตนิบาต… แห่งปารายนวรรค…แห่งขัคควิสาณสูตร…ซึ่งท่านเรียกว่ามหานิทเทส และว่า จูฬนิทเทส” การแบ่งเป็น ๒ คัมภีร์จึงน่าจะอยู่ในยุคพระฎีกาจารย์ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๕

ความสำคัญแห่งพระสูตรดังกล่าวได้สร้างความสนใจแก่พระสาวกหลายสำนัก ดังความปรากฏในคัมภีร์มหาวรรคแห่งพระวินัยปิฎกว่า ครั้งหนึ่ง ท่านพระโสณกุฏิกัณณะ ศิษย์ของพระมหากัจจายนะ มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค และได้รับพุทธานุญาตให้พักในที่เดียวกับพระองค์ เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านสาธยายพระสูตรถวาย ท่านได้สาธยายพระสูตรในอัฏฐกวรรคสุตตนิบาต ด้วยทำนองสรภัญญะ พระองค์ตรัสสรรเสริญว่าสาธยายได้ถูกต้องตรงตามที่ตรัสไว้ทุกประการ และสาธยายได้ไพเราะยิ่ง

การที่พระโสณกุฏิกัณณะได้เลือกสาธยายพระสูตรในอัฏฐกวรรค สุตตนิบาต และแสดงภูมิแห่งความเป็นสุตตธระเช่นนี้ แสดงว่าในสำนักของพระมหากัจจายนะได้มีการศึกษาและสาธยายพระสูตรเหล่านั้นเป็นประจำ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือในคัมภีร์เนตติปกรณ์ซึ่งถือกันว่าเป็นผลงานการรจนาของพระมหากัจจายนะได้นำเอาพระพุทธภาษิตในกามสูตรและอชิตมาณวปัญหา มาอธิบายไว้ใน เทสนาหารวิภังค์ และวิจยหารวิภังค์ อีกด้วย จึงทำให้มองเห็นว่าทั้งสองสำนักนี้ได้ให้ความสำคัญพระสูตรในอัฏฐกวรรคไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกผู้เลิศทางปัญญาและพ่วงด้วยตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี ส่วนพระมหากัจจายนะก็เป็นผู้เลิศด้านแสดงธรรมพิสดาร ศิษยานุศิษย์ทั้งสองสำนักจึงดูเหมือนว่าแข่งขันกันอยู่ในที และเป็นกำลังแห่งกองทัพธรรมของพระพุทธเจ้าสืบมา

การที่ทั้งสองสำนักได้นำพระสูตรในอัฏฐกวรรคและปารายนวรรคมาอธิบายนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเนื้อหาของพระสูตรในมหานิทเทสและจูฬนิทเทสนี้มีลักษณะที่จะต้องขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจพุทธรรมและนำคำอธิบายที่เหมาะสมในความหลากหลายนั้นไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับปัญหาของแต่ละสังคมต่อไป

๒.๓.๓ ทรรศนะของพระอรรถกถาจารย์ต่อคัมภีร์มหานิทเทส

พระอุปเสนมหาเถระ ชาวลังกาได้พรรณนาถึงความมีเสน่ห์และความสำคัญแห่งมหานิทเทส ไว้ใน คันถารัมภกถา แห่งสัทธัมมัปปัชโชติกาอัฏฐกถาว่า

มหานิทเทสมีความหมายที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ราวกะมหาสมุทรและมหาปฐพี …สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะที่ลึกซึ้ง มีความหมายลุ่มลึก ประกาศโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตา ให้สำเร็จการปฏิบัติและคุณวิเสสคือมรรคผล กำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกต่อการปฏิบัติ เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะคือญาณอันประเสริฐของพระโยคาวจรทั้งหลาย เป็นเหตุพิเศษที่ให้เกิดความงามแห่งธรรมกถาของพระธรรมกถึกทั้งหลาย เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ของเหล่าชนผู้ขลาดกลัวสังสารวัฏ มีข้อความให้เกิดความโปร่งใจ ด้วยการแสดงอุบายแห่งการออกไปจากทุกข์นั้น มีข้อความกำจัดธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการออกไปจากทุกข์นั้น และมีข้อความให้เกิดความยินดีแห่งหทัยของสาธุชน ด้วยการเปิดเผยอรรถแห่งสุตตบททั้งหลายมิใช่น้อยที่มีอรรถลึกซึ้ง อันท่านพระสารีบุตรเถระผู้เป็นธรรมเสนาบดีของพระธรรมราชา ผู้มีสิเนหะคือมหากรุณาแผ่ไปในชนทั้งสิ้น ด้วยแสงสว่างแห่งมหาประทีปคือพระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอันไม่มีสิ่งใดกำจัดขัดขวางได้ในที่ทั้งปวง ผู้ปรารถนาให้มหาประทีปคือพระสัทธรรมที่รุ่งเรื่องอยู่แล้วสามารถกำจัดความมืดคือกิเลสที่ฝังอยู่ในหทัยของเวไนยชน ได้รุ่งเรืองอยู่นานยิ่งตลอด ๕,๐๐๐ ปี ด้วยการหลั่งสิเนหะขยายคำอธิบายพระสัทธรรมนั้น ผู้อนุเคราะห์ชาวโลกเกือบเท่าพระศาสดาได้ภาษิตไว้แล้ว…

จากข้อความดังกล่าวอาจสรุปความสำคัญ ได้ดังนี้

๑) มหานิทเทสเป็นคัมภีร์ขยายความพระพุทธพจน์

๒) เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงโลกุตตรธรรมและสุญญตา

๒) เป็นเสมือนคู่มือการปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณวิเศษคือมรรค ผล นิพพาน

๓) เป็นคัมภีร์ที่ช่วยขจัดอุปสรรคแห่งการปฏิบัติธรรมให้หมดไป

๔) เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้อันประเสริฐแก่พระโยคาวจร

๕) เป็นเหตุให้พระธรรมกถึกแสดงธรรมได้ไพเราะเป็นพิเศษ

๖) แสดงอุบายเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์แก่ผู้กลัวทุกข์ในสังสารวัฏ

๗) ช่วยให้ผู้ต้องการรู้อรรถแห่งคัมภีร์ได้เข้าใจความหมายนัยต่าง ๆ แห่งสุตตบททั้งหลายอย่างถูกต้องตามพระพุทธประสงค์

คำพรรณนาของพระอุปเสนเถระทำให้เห็นว่ามหานิทเทสมีความสำคัญทั้งในแง่ปริยัติและปฏิบัติ เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่เปิดเผยสารัตถธรรมอันแฝงอยู่เบื้องหลังภาษามคธให้มองเห็นโลกทัศน์ชีวทัศน์ของพุทธศาสนาที่กว้างไกล แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้รจนาอย่างอลังการจนกระทั่งพระสังคีติกาจารย์ได้จัดเข้าไว้ในพระไตรปิฎก หากนำประเด็นดังกล่าวนี้มาศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาของคัมภีร์ก็น่าจะทำให้พุทธศาสนิกชนมองเห็นคุณค่าของมหานิทเทสในแง่มุมต่าง ๆ และเห็นภูมิปัญญาของพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า และจะเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่าพระอุปเสนเถระท่านได้กล่าวยกย่องสาระที่มีอยู่ในคัมภีร์ตามความเป็นจริงมิใช่เป็นการกล่าวสรรเสริญเพื่อสร้างศรัทธา

๒.๔ แนวทางของพระพุทธเจ้าต่อการอธิบายธรรม

ชาวพุทธฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาทส่วนมากเข้าใจว่า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความสมบูรณ์แล้วไม่จำเป็นต้องตีความขยายความ พระองค์ตรัสพระวาจาเพื่อดับทุกข์ในชีวิตปัจจุบัน ไม่เสียเวลาในการตีความเล่นสำนวนภาษา แม้ว่าสมณพราหมณ์ร่วมสมัยจะถามปัญหาในแง่อภิปรัชญา พระองค์ก็ทรงปฏิเสธการตอบปัญหาเหล่านั้น ทรงเบนความสนใจให้มาสู่ปัญหาที่มนุษย์สามารถลงมือกระทำด้วยวิริยะและปัญญาของตนเอง ผลปรากฏว่าผู้คนจากวรรณะต่างๆ มาศึกษาปฏิบัติตามที่พระองค์ตรัสสอนและได้บรรลุธรรมมากมาย นี้คือศรัทธาที่ชาวพุทธมีต่อพระพุทธเจ้า

แต่ข้อความในพระไตรปิฎกบางแห่งดูเหมือนว่าทรงเปิดโอกาสในด้านการใช้ภาษาเผยแผ่ศาสนา เช่น ในอรณวิภังคสูตร พระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำพระสาวกว่า

ภาชนะชนิดเดียวกันในโลกนี้ ในบางชนบทรู้จักกันว่า ปาติ … ปัตตะ… ปิฏฐะ … สราวะ … หโรสะ … โปณะ … หนะ … ปิปิละ ภิกษุพูดด้วยความยึดมั่นถือมั่นโดยประการที่ชนทั้งหลายในท้องถิ่นนั้นๆ จะรู้จักภาชนะนั้นว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง (ลักษณะอย่าง)นี้ชื่อว่าการยึดภาษาท้องถิ่นและการละเลยคำพูดสามัญ

ภาชนะชนิดเดียวกันในโลกนี้ ในบางชนบทรู้จักกันว่า ปาติ… ภิกษุพูดโดยประการที่ชนทั้งหลายในท้องถิ่นนั้นๆ จะรู้จักภาชนะนั้นได้ว่า ได้ยินว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ยึดภาษาท้องถิ่นและไม่ละเลยคำพูดสามัญ

พระพุทธพจน์นี้ดูเหมือนว่าทรงมุ่งให้พระสาวกผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาจะต้องรู้และเข้าใจภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ โดยไม่ควรยึดติดภาษาใดภาษาหนึ่งเพียงภาษาเดียว เพราะภาษาเป็นสมมติบัญญัติเป็นโวหารที่มนุษย์ใช้เรียกกันและสื่อสารในสังคม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าภาษานั้นสามารถสื่อถึงแก่นแท้ของพุทธธรรมได้มากน้อยเพียงใด ถ้าสื่อสารรู้เรื่องและเข้าใจถูกต้อง ก็ถือว่าภาษานั้นสื่อความหมายได้แล้ว การเผยแผ่พุทธธรรมก็จะบรรลุเป้าหมาย เพราะถ้าพระพุทธศาสนาผูกติดอยู่กับมคธภาษาเพียงภาษาเดียว คงไม่สามารถขยายเขตออกจากดินแดนภารตะสู่สังคมโลกได้อย่างแน่นอน

ความพยายามในการอธิบายพุทธธรรมได้เริ่มก่อตัวขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวขององค์กรสงฆ์ ในขณะเดียวกันพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมไปตามอุปนิสัยของแต่ละบุคคลในแต่ละชุมชน บางชุมชนทรงสอนธรรมโดยตรงไม่ต้องขยายความ บางชุมชนทรงสอนโดยอ้อมต้องตีความหมาย เช่น จงฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระราชาและกษัตริย์ (มาตรํ ปิตรํ หนฺตวา ราชาโน เทฺว จ ขตฺติโย ) พวกเธอจงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้ (วนํ ฉินฺทถ มา รุกฺขํ ) นิพพานบทอันไม่แปรผัน (นิพฺพานปทมจฺจุตํ) หรือ อายตนะมีอยู่ ในอายตนะนั้นไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม…ไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่มีอารมณ์ยึดเหนี่ยว นี้คือที่สุดแห่งทุกข์ แน่นอนคำสอนเหล่านี้ต้องอธิบายและตีความอย่างระมัดระวังและรอบครอบ มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาตามมา การแสดงพระธรรมเทศนาที่หลากหลายนี้เองเป็นเหตุให้พระสาวกระดับแนวหน้าต้องถือเป็นภาระในการอธิบายความและตีความให้ตรงกับพุทธประสงค์

๒.๔.๑ ภาษาที่ใช้เผยแผ่ศาสนา

ภาษาที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาคือภาษามคธ เหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์และการเมือง คือมคธเป็นแคว้นใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวาง ปกครองโดยพระเจ้าพิมพิสารจอมจักรพรรดิ มีเมืองหลวงคือราชคฤห์ มคธมีอาณาเขตแผ่ไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กรุงสาวัตถีแคว้นกาสีและโกศลเป็นต้น พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยเหล่าประชาราษฎร์ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะและถวายความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาก่อนกษัตริย์เมืองอื่นใด อีกทั้งแคว้นมคธมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง เจริญทั้งด้านปรัชญาและศาสนามีศาสดาเจ้าลัทธิมากมาย ด้วยเหตุผลนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงวางรากฐานแห่งพระพุทธศาสนาในแคว้นนี้เป็นปฐม ดังนั้นภาษามคธจึงถูกเลือกเป็นภาษาสำหรับเผยแผ่ศาสนาเป็นภาษาแรก และเป็นภาษาที่มีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ไม่ทรงประสงค์ที่จะให้พระสาวกยึดติดในภาษา ทรงยอมให้พระสาวกเผยแผ่ศาสนาด้วยภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ ดังตัวอย่างที่กล่าวแล้วในอรณวิภังคสูตร พระองค์ทรงเน้นให้เข้าใจธรรมและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเป็นสำคัญ เพราะเป้าหมายของพระพุทธเจ้า คือการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ

๒.๔.๒ ร่องรอยแห่งการตีความในพระไตรปิฎก

คำสอนของพระพุทธเจ้าที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมีทั้งคำสอนที่มีความหมายตรง (นีตัตถะ) และคำสอนที่จะต้องตีความ (เนยยัตถะ) เพราะกาลเวลาและสถานที่ในแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าแตกต่างกัน บุคคลผู้ฟังธรรมก็มีหลายกลุ่มหลายประเภท ถ้อยคำภาษาในการสื่อความหมายย่อมต้องเปลี่ยนไปตามพื้นฐานความรู้ของคนหรือกลุ่มชนนั้นๆ แต่ในท่ามกลางแห่งความหลากหลายนี้ พระองค์ทรงวางหลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ หลักมหาปเทส ๔ และหลักกาลามสูตร สำหรับตรวจสอบความถูกต้องแห่งพุทธธรรมและหลักการเพื่อช่วยตัดสินใจ ดังนั้น พลังขับเคลื่อนแห่งธรรมจักรต้องหมุนไปตามบริบทของสังคม ร่องรอยแห่งการตีความในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาต่อไป

๑) ร่องรอยแห่งการตีความในพระวินัยปิฎก

พระวินัยปิฎก เป็นคัมภีร์ที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับสิกขาบท กฎกติกา มารยาทในการอยู่ร่วมกันของคณะสงฆ์โดยการบัญญัติสิกขาบทจะต้องมีความชัดเจนที่สุดไม่คลุมเครือ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด สิกขาบททั้งหลายในพระวินัยปิฎกเป็นอุทเทส บทที่ขยายความคือสิกขาบทวิภังค์ และบทภาชนีย์ บททั้งสองนี้ทำหน้าที่เสมือนพระอรรถกถาจารย์อยู่ในตัวคอยอธิบายความและให้คำจำกัดความที่ตรงกรอบแห่งสิกขาบทนั้น ๆ เช่น ท่านให้ความหมายของคำว่า ภิกษุ ในปฐมปาราชิกไว้ ๑๒ นัย คือ ภิกษุ หมายถึง (๑) ผู้ขอ (๒) ผู้อาศัยการเที่ยวขอ… (๑๒) ผู้ที่สงฆ์บวชให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา แต่ความหมายที่พระวินัยข้อนี้ต้องการคือข้อที่ ๑๒ เพราะภิกษุในข้อนี้ยังไม่บรรลุอรหัตต์ การขยายความอย่างนี้ทำให้เห็นลักษณะต่าง ๆ ของภิกษุ ความหมายทั้ง ๑๒ นัยครอบคลุมตั้งแต่ภิกษุนวกะจนถึงพระอรหันต์ เพื่อป้องกันการตีความออกนอกประเด็น

ปัญหาที่มักพบบ่อยในพระวินัยปิฎกคือความแตกต่างกันแห่งบริบทสังคม เช่น วันเวลา สถานที่ บุคคล และวัตถุ ที่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติสิกขาบท เรื่องบางเรื่องในสังคมหนึ่งประชาชนมองเห็นเป็นสิ่งธรรมดา แต่อีกสังคมหนึ่งกลับเห็นว่าเป็นความเสียหายร้ายแรง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง สังคมตะวันตกมองเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนสังคมตะวันออกเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด การบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คนไทยภาคเหนือมองเป็นเรื่องของตุ๊เจ้า ส่วนภาคอื่นถือเป็นเรื่องเสียหายมาก

ในพระวินัยก็พบปัญหาทำนองนี้ เช่น เรื่องสิกขาบทเล็กน้อย วัตถุ ๑๐ ประการในทุติยสังคายนา แม้ว่าจะมีหลักมหาปเทส ๔ มาเป็นเกณฑ์ตัดสินก็ตาม บางครั้งหลักมหาปเทส ๔ นั่นเองซึ่งถือว่าเป็นหลักสำหรับการตัดสินความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ก็ยังมีปัญหา เพราะมนุษย์มักตีความเข้าข้างตนเองเสมอ สิ่งใดที่ตนไม่ชอบก็บอกว่าไม่เหมาะ สิ่งใดที่ตนชอบก็บอกว่าเหมาะ

ในพระวินัยปิฎกตอนเวรัญชกัณฑ์ เวรัญชพราหมณ์ได้กล่าวตำหนิพระพุทธเจ้าว่า พระโคดมเป็นคนไม่มีรส(อรสรูปะ) ไม่มีโภคะ(นิพโภคะ) เป็นต้น ต่อสถานการณ์และคำพูดอย่างนี้พระพุทธองค์ทรงทำอย่างไร แน่นอนในสถานการณ์อย่างนี้การสอนแบบธรรมดาคงไม่สามารถเอาชนะใจพราหมณ์ได้ พระองค์จึงทรงคล้อยตามคำพูดนั้นว่าที่ว่าไม่มีรส ไม่มีโภคะนั้นมีมูลอยู่ แต่คำว่าไม่มีรส ไม่มีโภคะ พระพุทธองค์ทรงหมายถึงการละรสคือความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะได้แล้ว และการที่พระองค์เป็นคนไม่มีโภคะ เพราะไม่มีสิ่งเหล่านี้

วิธีการของพระองค์ในช่วงแรกดูเหมือนว่าทรงคล้อยตามคำกล่าวหา แต่ทรงหักมุมมองเปลี่ยนความหมายใหม่ในประโยคหลังโดยคู่สนทนาไม่สามารถโต้แย้งได้ ลักษณะดังกล่าวมานี้ถือได้ว่าพระองค์ให้ความหมายของคำพูดใหม่ ตีความใหม่ สังเกตจากคำพูดที่ว่าเป็นคนไม่มีรสนั้น ความจริงแล้วคำพูดนี้พราหมณ์หมายถึงการไม่มีสัมมาคารวะ ไม่กราบไหว้ไม่ต้อนรับพราหมณ์ผู้สูงวัย ซึ่งสังคมพราหมณ์เขามองว่าเป็นคนกระด้างไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ประกอบกับความเป็นพระศาสดาที่อยู่ในวัยหนุ่มของพระพุทธเจ้าด้วย ซึ่งทำให้ทราบบริบทสังคมอินเดียอีกมุมหนึ่งคือมีการเคารพผู้สูงอายุ และได้มีอิทธิพลต่อระบบอาวุโส ภันเต ในพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา การให้ความหมายใหม่แก่คำพูดของพราหมณ์นี้เอง ทำให้พราหมณ์ฉุกคิดเกิดความสนใจคำสอนทันที และสุดท้ายพราหมณ์ได้ขอเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

ความหมายใหม่เกี่ยวกับธรรมะของพระพุทธเจ้ามิใช่เป็นการหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ซ้ำกับพราหมณ์ แต่ความหมายใหม่ ตีความใหม่นี้ได้เชื่อมโยงกับความเป็นจริงตามสภาวธรรม เป็นการให้ความหมายที่ตรงไปสู่การรู้และเข้าใจธรรม มิใช่เผยแผ่ธรรมในเชิงหลักวิชาการ หากแต่เป็นไปในเชิงปฏิบัติการมุ่งลัดสู่พระนิพพานอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามร่องรอยแห่งการตีความในพระวินัยปิฎกก็สะท้อนให้เห็นว่าการตีความพระวินัยมีลักษณะต้องอยู่ในกรอบของแต่ละสิกขาบท ดังนั้นในประวัติแห่งพระพุทธศาสนา เราจึงไม่เห็นบรรยากาศแห่งการขยายตัว การตีความพระวินัยอย่างวิจิตรพิสดารเหมือนพระสูตรเลย แม้พระสาวกผู้ชำนาญพระวินัยก็มีน้อยกว่าพระสาวกผู้ชำนาญพระสูตร

๒) ร่องรอยแห่งการตีความในพระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก เป็นคัมภีร์ที่บันทึกพุทธธรรมไว้มากที่สุด(ในแง่ของปริมาณรูปเล่ม) ในบรรดาปิฎกทั้งสาม มีคำสอนทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ คำสอนที่มีความหมายตรง (นีตัตถะ) และคำสอนที่ต้องตีความ (เนยยัตถะ) มีทั้งคำสอนที่เป็นธรรมาธิษฐานและบุคลาธิษฐาน และคำสอนที่เจือด้วยปาฏิหาริย์

ในวิภังควรรค แห่งมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มีรูปแบบแห่งการอธิบายพุทธธรรมอย่างน่าศึกษา คือมีคำอุทเทสและวิภังค์ปรากฏในพระสูตรถึง ๔ สูตรในวรรคเดียวกัน ในตอนท้ายแห่งพระสูตรได้นำอุทเทสนั้นมาเป็นบทสรุปจบทุกครั้ง พระสูตรที่ ๑ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย พระสูตรที่ ๒ พระอานนท์แสดง และพระพุทธเจ้าทรงรับรองการแสดงนั้นว่าถูกต้องแล้วทรงแสดงซ้ำอีก พระสูตรที่ ๓ เทวดามาถามภิกษุชื่อสมิทธิว่าจำอุทเทสและวิภังค์แห่งพระสูตรนี้ได้ไหม ภิกษุบอกว่าจำไม่ได้ เทวดาก็กล่าวว่าตนก็จำไม่ได้ พระสมิทธิจึงเข้าเฝ้าทูลให้พระพุทธเจ้าแสดงให้ฟัง พระองค์ได้แสดงเฉพาะอุทเทสแล้วเสด็จเข้าที่ประทับ เหล่าภิกษุได้กราบอาราธนาให้พระมหากัจจานะแสดงให้ฟัง และพระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองการแสดงนั้นพร้อมทั้งสรรเสริญพระมหากัจจานะว่าเป็นมหาบัณฑิตมีปัญญามาก พระสูตรที่ ๔ พระโลมสกังคิยะถูกจันทนเทพบุตรถาม จึงได้เดินทางจากนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ไปพระเชตวัน กรุงสาวัตถี เพื่อเข้าเฝ้าและทูลถามพระพุทธเจ้า ในพระสูตรนี้เทพบุตรบอกว่าพระพุทธองค์เคยทรงแสดงแก่เหล่าเทพที่ดาวดึงส์

ความนิยมในการตั้งบทอุทเทสและขยายด้วยวิภังค์เป็นลักษณะของการแสดงธรรมที่ต้องการให้จำง่ายและให้นำไปคิด วิธีการอย่างนี้มีปรากฏในหลายพระสูตร และที่น่าศึกษาอย่างหนึ่งคือทั้ง ๔ พระสูตรมีสถานที่แสดงธรรมคือ คือแสดงที่ราชคฤห์ สาวัตถี และดาวดึงส์ และภิกษุจากแคว้นสักกะมาเรียนพระสูตรนี้ด้วย

ในอรณวิภังคสูตร แห่งมัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ ได้กล่าวถึงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคตรัสเป็นบทอุทเทสซึ่งเป็นเนื้อหาที่นำมาจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ความว่า

ภิกษุไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุขในกามอันเลว …และไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งอัตตกิลมถานุโยค … มัชฌิมาปฏิปทาอันไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนั้นที่ตถาคต ตรัสรู้แล้ว… เพื่อนิพพาน พึงรู้จักการยกย่องและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกย่องไม่พึงตำหนิ พึงแสดงธรรมเท่านั้น พึงรู้การตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความสุขภายใน ไม่พึงกล่าวความลับ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า เมื่อไม่รีบจึงพูด เมื่อรีบร้อนไม่พึงพูด ไม่พึงยึดภาษาท้องถิ่น ไม่พึงละเลยคำพูดสามัญ นี้คืออุเทศแห่งอรณวิภังค์

จากนั้นพระองค์ได้ทรงอธิบายโดยพิสดารแก่ภิกษุทั้งหลาย การขยายความพระสูตรนี้ท่านใช้ คำว่า อิติ โข ปเนตํ วุตตตํ, กิญญเจตํ ปฏิจฺจ วุตฺตํ แปลว่า…เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า…เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น จากนั้นท่านยกเป็นประโยคในอุทเทสมาขยายความต่อไป โดยใช้ กถํ เป็นคำถามนำ เช่น กถญฺจ ภิกฺขเว อุสฺสาทนา จ โหติ อปสาทนา จ, โน ธมฺมเทสนา แปลว่า การยกย่องการตำหนิ และการไม่แสดงธรรม เป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นลักษณะวลีไม่มีกิริยาคุมพากย์ มักใช้ กตม เช่น กตมานิ ฉ เคหสิตานิ โสมนสฺสานิ แปลว่า โสมนัสอาศัยเรือน ๖ อย่าง เป็นอย่างไร คือ… จากนั้นก็อธิบายแต่ละประเด็นจนจบ การตั้งบทอุทเทสแล้วนิทเทสนี้เป็นจารีตแห่งพระพุทธศาสนาดั้งเดิม ซึ่งคำ กถํ และ กตม ศัพท์จะมีบทบาทในการช่วยขยายความอย่างมาก

๓) ร่องรอยแห่งการตีความในพระอภิธรรมปิฎก

พระอภิธรรมปิฎก เป็นคัมภีร์ที่บรรจุเนื้อหาคำสอนในส่วนปรมัตถ์ กล่าวถึงเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นนามธรรมล้วน ไม่ได้การกล่าวถึงสถานที่และผู้ฟังเหมือนพระสุตตันตปิฎก หากแต่พระอรรถกถามาขยายความว่าพระองค์แสดงโปรดพุทธมารดาที่ดาวดึงส์ จากนั้นได้ทรงแสดงแก่พระสารีบุตรและสานุศิษย์ให้สืบทอดมา

เมื่อมองดูสารัตถะของอภิธรรมแล้วไม่น่าจะมีการตีความอะไรเลย แต่ปรากฏว่าอภิธรรมนี้แหลมีการตีความขยายความมากกว่าพระสูตร ในด้านโครงสร้างของอภิธรรมมีคำว่า มาติกา อุทเทส นิทเทส วิภังค์ บทภาชนีย์ รวมอยู่ด้วย จึงทำให้มองเห็นว่ามีการตีความขยายความ เพราะการอธิบายในสิ่งที่เป็นนามธรรมบุคคลบางจำพวกอาจเข้าใจได้ง่าย แต่บางจำพวกไม่อาจเข้าใจได้จึงต้องมีการขยายความ

มาติกาหรืออุทเทสในอภิธรรมปิฎกต่างกันจากพระสุตตันตปิฎกตรงที่ในอภิธรรมมีลักษณะเป็นคำร้อยแก้ว เป็นวลี ส่วนในพระสุตตันตปิฎกมีทั้งคำร้อยกรองและคำร้อยแก้ว ภาคนิทเทสและวิภังค์ก็เป็นการอธิบายขยายความตามบริบทนั้น ๆ จนกว่าจะหมดอุทเทสที่ตั้งไว้

รูปแบบการนำเสนอพุทธธรรมในพระไตรปิฎกทั้งสามมีกรอบการนำเสนอตามอุทเทส นิทเทส ปฏินิทเทสเสมอ เพียงแต่เปลี่ยนรูปให้เหมาะสมในแต่ละปิฎกเท่านั้น วัฒนธรรมแห่งการนำเสนออย่างนี้ได้มีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน เช่น การแสดงธรรมของพระธรรมกถึกนิยมยกพุทธภาษิต จากนั้นก็อธิบายพุทธภาษิตนั้นจนเนื้อหาสาระสมบูรณ์ แม้การศึกษาฝ่ายปริยัติธรรมในวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม ก็มีรูปแบบนี้เช่นกัน

๓. กรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ในการอธิบายพุทธธรรม

๓.๑ กรอบแนวคิดที่เป็นโครงสร้างหลัก

วรรณกรรมในทางพระพุทธศาสนาจะมีโครงสร้างในการดำเนินเรื่องทุกเล่ม เพราะเป็นการวางกรอบสำหรับการทำงาน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เรื่องที่ตนเขียนออกนอกกรอบ มหานิทเทสก็เช่นเดียวกัน ท่านพระสารีบุตรได้วางโครงสร้างในการอธิบายพุทธธรรมอย่างเป็นระบบไว้ ๓ ขั้น คือ อุทเทส นิทเทส และปฏินิทเทส

๓.๑.๑ อุทเทส

อุทเทส คือหัวข้อธรรม เป็นบทที่ยกขึ้นมากล่าวนำ มีลักษณะเป็นคำสั้น ๆ กะทัดรัด ส่วนมากมักเป็นพระพุทธภาษิตบ้าง เถรภาษิตบ้าง เถรีภาษิตบ้าง สำหรับในมหานิทเทสนี้อุทเทสคือพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในรูปคาถา พระสารีบุตรเถระนำพระพุทธภาษิตเหล่านี้มาอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พระพุทธภาษิตทั้งหมดที่นำมาขยายความนี้ถือว่าเป็นอุทเทสทั้งสิ้น

ความจริง อุทเทสนี้มีนิทเทสอยู่ในตัวและมีความสมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะอยู่แล้ว ถ้าผู้ฟังมีอุปนิสัยแก่กล้าก็สามารถบรรลุธรรมได้ เช่น ในกามสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พราหมณ์และพราหมณีชาวกรุงสาวัตถี เมื่อแสดงธรรมจบลง ทั้งสองก็บรรลุโสดาบัน แสดงว่าในพระสูตรนี้ประกอบด้วยสาระแห่งอริยสัจ ๔ ครบถ้วน ในเนตติปกรณ์ก็กล่าวว่า คาถาแรกของกามสูตรเป็นอัสสาทะ กล่าวถึงคุณของกาม คาถาที่ ๒ เป็นอาทีนวะ กล่าวถึงโทษของกาม และคาถาที่ ๓ เป็นนิสสรณะ กล่าวถึงการออกจากกาม แม้ในพระสูตรอื่นก็มีลักษณะเหมือนกัน

แต่เนื่องจากอุปนิสัยของมนุษย์แตกต่างกัน ความจำเป็นในการอธิบายธรรมให้เหมาะแก่บุคคลจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้น ยิ่งพระพุทธศาสนาได้ขยายตัวไปสู่สังคมโลก ภาระในการขับเคลื่อนธรรมจักรจึงเป็นหน้าที่ของพระสาวกทุกยุคสมัย พระพุทธองค์ได้ตรัสเหตุแห่งความตั้งมั่นของศาสนาไว้ ๒ ประการคือ (๑) บทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี (๒) อรรถที่สืบทอดขยายความดี” และพระพุทธพจน์อีกตอนหนึ่งว่า “บุคคล ๒ จำพวกนี้ย่อมไม่กล่าวตู่ตถาคต คือ (๑) คนที่แสดงสุตตันตะที่ควรขยายความว่า “สุตตันตะควรขยายความ” (๒) คนที่แสดงสุตตันตะที่มีการขยายความแล้วว่า “สุตตันตะมีการขยายความแล้ว” ความหมายแห่งพระสุตตันตะนี้คือพระพุทธพจน์และอรรถาธิบายพระสุตตันตะที่นำสืบทอดกันมาเป็นระเบียบไม่ตกหล่นสูญหาย ไม่คลาดเคลื่อนจากความหมายเดิม ข้อความแห่งพระพุทธพจน์บางบทบางตอนสมควรอธิบายขยายความเพิ่มก็ต้องอธิบาย ส่วนไหนที่ตรงความหมายแล้วก็ไม่ควรเสริมความจนเสียพุทธประสงค์

อุทเทสมีนัยที่ต้องการให้พระสาวกนำไปขบคิด ไตร่ตรองจนเกิดปัญญา และมีนัยบ่งบอกถึงการที่ศิษย์ต้องเข้าไปสอบถามธรรมจากครูอาจารย์ ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ครูและศิษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เป็นการอบรมลักษณะนิสัยของศิษย์ด้วย พร้อมกระนั้นก็กระตุ้นให้ครูอาจารย์ได้ตระหนักรู้ว่าต้องทำหน้าที่ของตนด้วย ลักษณะของการยกอุทเทสขึ้นแล้วไม่ทรงแสดงต่อไป ทรงทิ้งไว้ให้พระสาวกขบคิดและแสวงหาคำตอบมีอยู่หลายสูตร เช่น เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร พระองค์ทรงแสดงธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพ พระสารีบุตรได้ขยายความให้ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจนจบ มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ทรงยกอุทเทสไว้แล้วเสด็จพักผ่อน พระมหากัจจานะขยายความพระสูตรแก่เหล่าภิกษุจนจบพระสูตร

พระสาวกผู้เป็นอุคฆฏิตัญญูฟังเฉพาะอุทเทสก็บรรลุธรรมได้ เช่น พระสารีบุตรเถระฟังคำอุทเทสคือคาถา เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา… จากพระอัสสชิเถระแล้วได้บรรลุโสดาบัน พระรัฐปาลก็บรรลุธรรมเพราะขบคิดอุทเทสแห่งธรรม(ธมฺมุทฺเทส) และได้ถวายพระพรแด่พระเจ้าโกรัพยะด้วยอุทเทสแห่งธรรม ๔ อย่างว่า “โลกอันชรานำไปไม่ยั่งยืน โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป โลกพร่องอยู่เป็นนิจไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา ธรรมเหล่านี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว และอาตมภาพก็ได้เห็นแจ้งแล้วจึงออกบวช”

บางครั้งบทอุทเทสมีลักษณะตรัสไว้เพื่อเป็นการข่มทิฏฐิมานะของศิษย์นักวิชาการผู้เมาปริยัติ เช่น ในกรณีมูลปริยายชาดก เหล่าศิษย์คิดว่าตนรู้คำสอนของอาจารย์หมดแล้ว จึงไม่เคารพอาจารย์ และพระธรรมโฆสเถระก็ใช้บทอุทเทส(อภิธรรมเรียกมาติกา) คือ กุสลา ธมฺมา กุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ใช้ข่มมานะของโฆสกุมารให้กำหนดต้นปลายของธรรมไม่ได้ จากนั้นจึงได้นิทเทสให้กุมารเข้าใจ แม้พระนาคเสนสมัยเป็นกุมารผู้เย่อหยิ่งในภูมิปัญญาของตนที่เรียนจบไตรเพทก็ต้องยอมจำนนต่อบทอุทเทสของพระโรหณเถระเช่นกัน แม้ปริศนาธรรมและอุปมาปไมยในพระสูตร โศลกของมหายาน โกอานของเซน ก็จัดอยู่ในกลุ่มของอุทเทสได้เช่นกัน เพราะมีลักษณะเป็นคำที่ซ่อนคำตอบไว้และต้องการขยายความภายหลัง

อุทเทสยังมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยแผนกธรรม ในรายวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม ทั้งนักธรรมชั้นตรี โท และเอก โดยกรรมการสนามหลวงได้นำเอาพระพุทธภาษิตมาเป็นบทตั้งให้นักเรียนแต่งแก้กระทู้นั้นในเชิงเทศนาโวหาร พรรณนาโวหารตามความถนัด ถ้าอธิบายได้ตามกฎเกณฑ์ที่สนามหลวงกำหนดให้ก็ถือว่าสอบผ่านในแต่ละชั้น และนี้คือบทบาทของอุทเทส

๓.๑.๒ นิทเทส

นิทเทส คือบทขยายความแห่งอุทเทส การแสดงให้ชัดเจน เป็นบทที่มีความสำคัญเพราะบ่งบอกถึงภูมิปัญญาของผู้นิทเทสว่ามีความรู้มากน้อยเพียงใด นิทเทสนี้ได้แสดงบทบาทในการขยายความ วิเคราะห์รูปศัพท์จนถึงมูลรากของภาษา แสดงภูมิความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ นิรุตติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และ คำศัพท์ที่มีความหมายคล้ายกัน(synoname) แสดงถึงความแตกฉานพระไตรปิฎก เชื่อมโยงความรู้โลกิยะถึงโลกุตตระ

บางครั้งคำว่านิทเทส ท่านใช้คำว่า วิภังค์ แทน เช่นในภัทเทกรัตตสูตรว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวกันเจริญ แก่เธอทั้งหลาย”

ส่วนในพระวินัย ตัวสิกขาบทเป็นอุทเทส บทที่ขยายความสิกขาบทคือ สิกขาบทวิภังค์(การขยายความสิกขาบท) และบทภาชนีย์(การจำแนกบท) สองบทนี้จึงเป็นเสมือนนิทเทสของสิกขาบท

ในพระสุตตันตปิฎก บทนิทเทสเป็นบทขยายอุทเทสให้พิสดาร เช่น ในมหาสติปัฏฐานสูตร ตั้งเป็นบทอุทเทสแล้วขยายด้วยนิทเทส ข้อความว่า "ภิกษุพิจารณากายในกายอยู่ ภิกษุพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ภิกษุพิจารณาจิตในจิตอยู่ ภิกษุพิจารณาธรรมในธรรมอยู่" นี้เรียกว่าบทอุทเทส จากนั้นก็เป็นภาคนิทเทส คือตั้งแต่ อาปานปัพพะ จนถึง มัคคสัจจนิทเทส

พระสูตรโดยมากมักมีอุทเทสและนิทเทสเสมอ บางพระสูตรมีเฉพาะอุทเทส ไม่มีนิทเทสเช่น พระสูตรในอังคุตตรนิกาย บางพระสูตรมีอุทเทสเพียงครั้งเดียวแล้วนิทเทสตลอดจนจบพระสูตร บางพระสูตรทรงแสดงอุทเทสไว้ ให้พระสาวกแสดงขยายความให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เช่น อุทเทสวิภังคสูตร พระองค์ทรงแสดงอุทเทสไว้ว่า “ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอกไม่ตั้งมั่นอยู่ภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก... จึงไม่มีเหตุเกิดและแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป” จากนั้นก็เสด็จเข้าที่ประทับ พระมหากัจจายนะได้ทำหน้าที่นิทเทสให้ภิกษุทั้งฟังจนจบ ในตอนท้ายพระองค์ทรงรับรองความถูกต้องและสรรเสริญพระเถระว่าเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก

ในพระอภิธรรมปิฎกคัมภีร์ธรรมสังคณีใช้บทภาชนีย์สำหรับขยายความซึ่งเป็นการใช้แทนคำว่านิทเทสและปฏินิทเทส คัมภีร์วิภังค์ (พระไตรปิฎกเล่ม ๓๕) ใช้คำว่า วิภังค์และสุตตันตภาชนีย์มาเป็นบทขยายความ ในคัมภีร์ธาตุกถาและปุคคลบัญญัติ ใช้คำว่านิทเทสมาเป็นตัวขยายมาติกา ส่วนในคัมภีร์ยมก(พระไตรปิฎกเล่ม ๓๘ -๓๙) ใช้นิทเทสเป็นบทขยายอุทเทส คัมภีร์สุดท้ายคือปัฏฐานมีการใช้คำว่าวิภังค์และนิทเทสควบคู่กัน เพื่อขยายบทมาติกาหรืออุทเทส ในพระอภิธรรมปิฎกนี้จะใช้คำว่านิทเทสที่กินความถึงปฏินิทเทสด้วย

๓.๑.๓ ปฏินิทเทส

ปฏินิทเทส คือบทที่มีลักษณะถามเองตอบเอง ไม่มุ่งให้คนอื่นตอบคำถาม เป็นการถามเพื่อต้องการให้ประเด็นปัญหาชัดเจนขึ้นว่าจะตอบหรืออธิบายเรื่องอะไร เช่น คำว่า วัตถุกามคืออะไร คือ รูป เสียง … ปฏินิทเทสเป็นลีลาในการแสดงธรรมอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่ดูเหมือนว่าเป็นการย้ำให้ผู้ฟังมั่นใจว่าสิ่งที่กำลังฟังหมายถึงสิ่งใดเพื่อตั้งโสตสดับต่อไป มีนัยคล้ายกับคำว่าปฏิปุจฉา(การถามตอบ)ซึ่งคำลักษณะนี้จะปรากฏในหลายพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแบบย้อนถาม เช่น ข้อความในจักขุสูตร ว่า “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” จากนั้นก็ถามเรื่อยไปจนผู้ฟังเข้าใจ ซึ่งการสอนด้วยวิธีการถามตอบ(ปฏิปุจฉา)นี้นับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย ทำให้ผู้ฟังได้ตอบคำถามเพื่อแสดงว่าตนเข้าใจตามที่ผู้สอนต้องการ

บทบาทของปฏินิทเทสมีความหมายแฝงอยู่ในคำนิทเทสจนอาจเรียกว่าเป็นอันเดียวกับนิทเทสหรือจะเรียกว่าเป็นตัวเสริมให้นิทเทสชัดเจนขึ้นก็คงไม่ผิด แม้ในมหานิทเทสเองก็ไม่ใช้คำนี้ในรูปของพยัญชนะเลย หากแต่มองจากลักษณะของการนำเสนอว่ามีคำทั้งสามนี้อย่างครบถ้วน ในเนตติปกรณ์เราจะเห็นบทบาทของปฏินิทเทสนี้อย่างเต็มรูป เพราะเป็นตัวขยายความทั้งคัมภีร์

การเลือกเอาคำว่า นิทเทส มาเป็นตัวยืนหลักในการนำเสนองานนี้นับว่าเป็นความสามารถอย่างยอดเยี่ยมชั้นครู จากนั้นก็เติมคำอุปสรรค คือ อุ (ความหมายเดิม แปลว่า ขึ้น นอก) นิ (ไม่มี ออก) และ ปฏิ (เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ) เข้ามาหน้าคำนิทเทส ทำให้มีความหมายแตกออกเป็น ๓ ความหมายทันที และคำว่านิทเทสก็เป็นตัวแสดงบทบาทที่โดดเด่นที่สุด ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้รจนาคัมภีร์

โครงสร้างทั้งสามนี้ได้มีอิทธิพลต่อการอธิบายพุทธธรรมเป็นอย่างมาก ในคัมภีร์เนตติปกรณ์ก็ได้ใช้โครงสร้างสามอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเนตติปกรณ์อาจได้รับอิทธิพลจากมหานิทเทสก็ได้ หรือไม่ก็พัฒนามาจากรากฐานเดียวกัน แม้ในคัมภีร์อรรถกถาก็ได้รับอิทธิพลนี้เหมือนกัน เช่นวิสุทธิมรรคในตอนเริ่มต้นพระพุทธโฆสาจารย์ก็นำเอาคาถาจากชฏาสูตรในสังยุตตนิกาย สคาถวรรคมาเป็นบทอุทเทส จากนั้นก็ขยายเป็นนิทเทส และปฏินิทเทส หัวข้อเรื่องก็ตั้งเป็น สีลนิทเทส เป็นต้น

๓.๑.๔ โครงสร้างเนื้อหาของมหานิทเทส

๑. กามสุตตนิทเทส ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส ๖. ชราสุตตนิทเทส

๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส ๘. ปสูรสุตตนิทเทส

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส

๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส

๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส

๓.๒ วัตถุประสงค์ในการอธิบาย

วัตถุประสงค์ในการอธิบายมหานิทเทส ผู้วิจัยสรุปจากคันถารัมภกถา ๕ ประการ คือ

๓.๒.๑ ขยายความพระพุทธพจน์ เพื่อกการหยั่งรู้ทั้งอรรถและพยัญชนะ

เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนขอนำเนื้อหากามสุตตนิทเทส มาแสดงโดยสรุปดังนี้

นิทเทสนี้กล่าวถึงเรื่องกาม มีคาถา ๖ คาถา คาถาที่ ๑ กล่าวถึงคุณของกาม คาถาที่ ๒ กล่าวถึงโทษของกาม คาถาที่ ๓ กล่าวถึงการสลัดออกจากกาม ในการสลัดออกจากกามนั้นก็จะบอกวิธีการสลัดออกตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนคาถาที่ ๔-๕-๖ ก็กล่าวถึงคุณ โทษ และการสลัดออกจากกามเหมือนกัน

๑) ความพอใจในกาม(อัสสาทะ)

กามมี ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม ๑) วัตถุกาม คือ วัตถุสิ่งของที่น่าพอใจน่าปลื้มใจและน่าปรารถนา อันได้แก่ กามคุณ ๕ ทรัพย์สมบัติที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ รวมทั้งทิพยสมบัติของเหล่าเทวดา ๒) กิเลสกาม คือความกำหนัด ความติดใจหลงใหลด้วยอำนาจความใคร่ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความดำริที่ปรุงแต่งในใจ

๒) โทษของกาม (อาทีนวะ)

วัตถุกามและกิเลสกามให้ความหวานชื่นแก่ผู้ปรารถนาได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามที่เสพเท่านั้น แต่ให้ความเจ็บเดือดร้อนแก่ผู้เสพอย่างต่อเนื่องยาวนาน พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบไว้ว่า

- เปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก เพราะให้ความยินดีน้อย

- เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เพราะเป็นของทั่วไปแก่ชนส่วนมาก

- เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เพราะมีความร้อนมาก

- เปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า เพราะไหม้ลุกลาม

- เปรียบเหมือนความฝัน เพราะปรากฏชั่วเวลาอันสั้น

- เปรียบเหมือนของยืม เพราะเป็นของครอบครองชั่วคราวตามกำหนด

- เปรียบเหมือนผลไม้คาต้น เพราะเป็นเหตุให้กิ่งหักต้นล้ม

- เปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ เพราะเป็นเครื่องรองรับการตัดฟัน

- เปรียบเหมือนหอกหลาว เพราะเป็นเครื่องทิ่มแทง

- เปรียบเหมือนหัวงู เพราะเป็นสิ่งมีภัยเฉพาะหน้า

- เปรียบเหมือนกองไฟ เพราะเผาผลาญ

๓) การออกจากกาม (นิสสรณะ)

ธรรมที่เป็นนิสสรณะมี ๒ ระดับคือธรรมสำหรับข่มกามไว้และธรรมสำหรับตัดขาดจากกาม ธรรมสำหรับข่มกามคือ อนุสสติ ๑๐ คือพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อานาปานสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ อุปสมานุสสติ และสมาบัติ ๘ คือ ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ส่วนธรรมสำหรับตัดขาดจากกามคือมรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น

ในเนตติปกรณ์ ก็ได้อธิบายกามสูตรนี้เหมือนกัน แต่ไม่อธิบายพิสดารเหมือนมหานิทเทส เพียงแต่จัดกรอบให้ชัดเจนว่า คาถาที่ ๑ ที่กล่าวถึงคุณของกาม เรียกว่า อัสสาทะ คาถาที่ ๒ เรียกว่า อาทีนวะ คาถาที่ ๓ เรียกว่า นิสสรณะ และได้ขยายความว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิสสรณะแก่อุคฆฏิตัญญูบุคคล ทรงแสดงอาทีนวะและนิสสรณะแก่วิปจิตัญญูบุคคล และทรงแสดงครบทั้ง ๓ อย่าง คือ อัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะแก่เนยยบุคคล

กามสุตตนิทเทสนี้ ได้แสดงอัสสาทะ อาทีนวะและนิสสรณะครบทุกอย่าง จึงทำให้ผู้ศึกษาและปฏิบัติตามสามารถบรรลุธรรมได้ ความเป็นเอกภาพของนิทเทสนี้คือ กล่าวถึงเรื่องกามตั้งแต่ต้นจนจบ สัมพันธภาพในนิทเทสนี้คือความเชื่อมโยงแห่งอัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ และสารัตถภาพในนิทเทสนี้คือทำให้ผู้ศึกษารู้จักคุณ โทษและการสลัดออกจากกาม

ในคุหัฏฐกสุตตนิทเทส มีลักษณะดังนี้

นิทเทสนี้กล่าวถึงนรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกวัตถุกามและกิเลสกามมากมายปิดบังจึงอยู่ไกลจากวิเวก เพราะกามทั้งหลายในโลกเป็นสิ่งที่นรชนละได้ยาก

๑) ความพอใจในกาม (อัสสาทะ)

ผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ข้องอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ถูกกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นปิดบังไว้ จึงจมอยู่ในกามคุณ ๕ ย่อมอยู่ห่างไกลจากกายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก ความพอใจในสุขเวทนา วัตถุที่น่าปรารถนา ความเป็นหนุ่มสาว ความไม่มีโรค ชีวิต ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข กามคุณ ๕ และในความสมบูรณ์แห่งร่างกาย ปรารถนากามทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงหลุดพ้นได้ยากและช่วยคนอื่นให้หลุดพ้นไม่ได้

๒) โทษของกาม (อาทีนวะ)

สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างก็แสวงหาวัตถุกามและกิเลสกาม ลุ่มหลงอยู่ในกามคุณ ๕ ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ เป็นผู้ตกไปสู่นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปตวิสัย ไม่ฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด จึงประสพทุกข์ ร้องคร่ำครวญอยู่

หมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนเพราะตัณหา ทิฏฐิ กิเลส วิบาก ทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ มานะ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย โลกธรรม ๘ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เพราะทุกข์อันเนื่องจากการเกิดในนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปตวิสัย โลกมนุษย์ กำเนิดในครรภ์ คลอดจากครรภ์ โรคทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โรคภัยต่าง ๆ เพราะญาติพี่น้องตาย สีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หมู่ชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่ผิด ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหาในกามภพ รูปภพ อรูปภพ คติ อุบัติ และปฏิสนธิ ร้องไห้ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช

๓) การออกจากกาม (นิสสรณะ)

นรชนเห็นโทษนี้แล้วอย่าก่อตัณหาในภพทั้งหลาย พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา นักปราชญ์พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้งสอง กำหนดรู้ผัสสะด้วยปริญญา ๓ คือ (๑) ญาตปริญญา (๒) ตีรณปริญญา (๓) ปหานปริญญา ไม่พึงยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ติเตียนกรรมใดด้วยตนเองก็ไม่พึงทำกรรมนั้น

มุนีกำหนดกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา เนกขัมมสัญญา อัพยาบาทสัญญา อวิหิงสาสัญญา รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา ด้วยปริญญา ๓ ได้แล้ว พึงข้ามห้วงน้ำทั้ง ๔ คือ ห้วงน้ำคือกาม ห้วงน้ำคือภพ ห้วงน้ำคือทิฎฐิ ห้วงน้ำคืออวิชชาได้ จึงไม่ข้องอยู่ในถ้ำ

จากตัวอย่างทั้งสองนิทเทสที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ามหานิทเทสได้มุ่งอธิบายธรรมเพื่อให้ผู้ศึกษาได้รู้และเข้าใจธรรมจนสามารถนำตนออกจากทุกข์ การแสดงคุณ โทษของกาม และการสลัดออกจากกามอย่างสิ้นเชิง จึงสมกับที่พระอุปเสนเถระได้กล่าวไว้ในคันถารัมภกถาว่าเป็นคู่มือแห่งการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน แม้ในนิทเทสอื่น ๆ ก็มีลักษณะคล้ายกัน ผู้วิจัยจึงขอเว้นไว้ไม่นำมากล่าว

๓.๒.๒ ขจัดอุปสรรคแห่งการปฏิบัติธรรมให้หมดไป

อุปสรรคในการปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้า และเหล่าพระสาวกพยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เพราะอุปนิสัยของบุคคลแตกต่างกัน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงดำรงอยู่ทรงแก้ปัญหานี้โดยไม่ยาก บางครั้งพระอัครสาวกสามารถแก้ไขได้ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะบารมีไม่เพียงพอ เช่น กรณีของพระจูฬปันถกที่ไม่สามารถทรงจำปริยัติและเจริญกรรมฐานทำให้แจ้งมรรคผลได้ พระพุทธองค์จึงทรงแก้ไขโดยให้ท่านพิจารณาท่อนผ้าจนท่านมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังขารในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรม อีกกรณีหนึ่งคือ ศิษย์ของพระสารีบุตรเถระที่พอบวชแล้วแต่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เนื่องจากได้อารมรณ์กรรมฐานไม่ถูกกับจริตของตน ต่อเมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วท่านจึงได้อารมณ์กรรมฐานเหมาะกับจริตและสามารถบรรลุธรรม

ท่านพระสารีบุตรเถระคงเห็นปัญหาและอุปสรรคในลักษณะนี้ ท่านจึงได้ริเริ่มอธิบายธรรมไว้หลายสูตร โดยเฉพาะในมหานิทเทส จูฬนิทเทสนี้ถือได้ว่าเป็นคัมภีร์สูตรสำเร็จแก่พระโยคาวจรอย่างดีเยี่ยมที่จะใช้เป็นสะพานเพื่อก้าวข้ามสังสารวัฏ

ในคุหัฏฐกสุตรมีพระพุทธพจน์ว่า สัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ… ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก และทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย ท่านพระสารีบุตรเถระได้ขยายความว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจในภพอันสัตว์หลุดพ้นได้ยากคือสุขเวทนา วัตถุที่น่าปรารถนา ความเป็นหนุ่มสาว ความไม่มีโรค ชีวิต ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขเป็นต้น สัตว์เหล่านั้นจึงหลุดพ้นได้ยากและไม่สามารถช่วยคนอื่นให้หลุดพ้น มีแต่จมดิ่งลงในที่ต่ำ แต่เมื่อสัตว์ได้ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสมด้วยกำลังและความเพียรของตนจึงจะหลุดพ้นได้ จากนั้นท่านได้นำพระดำรัสของพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงว่า “โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ ที่มีความสงสัยในโลกได้ แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐก็จะข้ามโอฆะนี้ได้" และอ้างอีกว่า “ตนทำชั่วเองย่อมเศร้าหมองเอง ไม่ทำชั่วก็บริสุทธิ์เอง ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้” และได้อ้างพระพุทธพจน์อีกว่า “นิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนก็มีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวกที่เราสั่งสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกก็สำเร็นนิพพาน บางพวกไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้เราจะทำอะไรได้ ตถาคตก็เป็นแต่ผู้บอกทาง พระพุทธเจ้าก็เพียงบอกทางให้ ผู้ที่ปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นได้”

จากตัวอย่างที่นำมานี้แสดงให้เห็นว่า การกำจัดอุปสรรคแห่งการปฏิบัติธรรม ทุกคนต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ต้องดึงศักยภาพของตนออกมาเต็มที่จึงจะบรรลุธรรมได้ ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ได้รับการกระตุ้นจากพระพุทธเจ้า และพระสารีบุตรเถระได้ดำเนินรอยตามพระพุทธองค์อย่างสมกับเป็นพระธรรมเสนาบดีโดยแท้

๓.๒.๓ ขุมทรัพย์ทางปัญญาของพระโยคาวจร

มหานิทเทสถือว่าเป็นแหล่งความรู้อันประเสริฐเพราะบรรจุสาระคำสอนสำหรับพัฒนาตนให้พ้นทุกข์ ความรู้เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์คือ รู้และเข้าใจอริยสัจ ๔ ส่วนความรู้ในแง่ปริยัติคือนวังคสัตถุสาสน์ มีสุตตะเป็นต้น ที่เรียกว่าพาหุสัจจะซึ่งเป็นอุดมมงคลข้อหนึ่งในบรรดามงคล ๓๘ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มหานิทเทสได้แสดงไว้นี้ หากประมวลเป็นหมวดธรรมจะได้ถึง ๑๐ หมวด เช่น

หมวด ๑ : การถือตัวแบบนัยเดียวคือความที่จิตสูง

หมวด ๒ : การกำหนด ๒ การเชิดชู ๒ ขอบเขต ๒

หมวด ๓ : กิเลสเครื่องตรึงจิต ๓ ความคะนอง ๓ ปริญญา ๓

หมวด ๔ : ความพอใจในภพ ๔ ทาส ๔ บุตร ๔

หมวด ๕ : กามคุณ ๕ ธุลี ๕ ผัสสะ ๕ พระจักษุ ๕

หมวด ๖ : จีวร ๖ มุสาวาทที่มีด้วยอาการ ๖ เป็นต้น

หมวด ๗ : กิเลสเครื่องฟู ๗ กิเลสหนา ๗ ลูกศร ๗

หมวด ๘ : ธุดงค์ ๘ พระสุรเสียงประกอบด้วยองค์ ๘

หมวด ๙ : ความตรึก ๙ มานะ ๙

หมวด ๑๐ : กถาวัตถุ ๑๐ สัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐

หลักธรรมเหล่านี้ท่านได้อธิบายขยายความทั้งในเชิงปริยัติและปฏิบัติอย่างกลมกลืน เช่น ท่านอธิบายความหมายของมุนี จากพระพุทธภาษิตว่า “มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก สลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้ นั่นแหละเราเรียกว่าผู้สงบ ท่านพระสารีบุตรขยายความว่า

คำว่า มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ หมายถึง ไม่ก้าวล่วงวาจาสัจ สัมมาทิฏฐิและอริยมรรคมีองค์ ๘ คำว่า มุนี อธิบายว่า โมนํ วุจฺจติ ญาณํ ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือปัญญา…ธรรมวิจยะ สัมมาทิฏฐิ มุนีประกอบด้วยญาณคือปัญญาเหล่านี้ และประกอบด้วยโมเนยยธรรม ๓ อย่างคือ ๑) โมเนยยธรรมทางกาย ได้แก่ การละกายทุจริต ๓ กายสุจริต ๓ ญาณที่มีกายเป็นอารมณ์ กายปริญญา มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา การละฉันทราคะในกาย การดับกายสังขาร และการบรรลุจตุตถฌาน ๒) โมเนยยธรรมทางวาจา ได้แก่ การละวจีทุจริต ๔ วจีสุริต ๔ ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ วาจาปริญญา มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา การละฉันทราคะทางวาจา ความดับวจีสังขาร และการบรรลุทุติยฌาน และ (๓) โมเนยยธรรมทางใจ ได้แก่ การละมโนทุจริต ๓ มีมโนสุจริต ๓ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ จิตตปริญญา การละฉันทราคะทางใจ ความดับจิตตสังขาร และการบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ นี้เรียกว่ามุนีทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ท่านยังแบ่งประเภทของมุนีออกเป็น ๖ คือ

๑) อาคารมุนี ได้แก่ ชนผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน) แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอน

๒) อนาคารมุนี ได้แก่ บรรพชิตผู้เห็นทางนิพพานแล้ว รู้แจ้งหลักคำสอน

๓) เสขมุนี ได้แก่ พระเสขะ ๗ จำพวก

๔) อเสขมุนี ได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย

๕) ปัจเจกมุนี ได้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า

๖) มุนิมุนี ได้แก่ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

มุนีเป็นพราหมณ์คือลอยธรรม ๗ ประการมีราคะเป็นต้นได้แล้ว ดำรงอยู่บนบกคืออมตนิพพาน สลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงคือละความพอใจในอายตนะ ๑๒ สลัดตัณหา ทิฏฐิ และมานะได้แล้วจึงเรียกว่าเป็นผู้สงบ (สนฺโต)

จะเห็นได้ว่าการขยายความในด้านภาษาศาสตร์ แม้จะไม่วิเคราะห์ถึงรากศัพท์แต่ก็เพียงพอที่จะให้ทราบที่มาของศัพท์ได้ ประเด็นสำคัญคือท่านได้เน้นความหลากหลายและเน้นเชิงปฏิบัติแก่ผู้ศึกษาตาม จึงกล่าวได้ว่าแบบแผนที่ท่านวางไว้นี้มีประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาสุดจะคณนา

 

๓.๒.๔ เป็นคลังสัททธรรม(ศัพท์ธรรม)

มหานิทเทสได้เป็นเสมือนคลังศัพท์พุทธธรรมอันวิจิตรที่บันทึกศัพท์ต่าง ๆ ไว้มากมาย มีทั้งที่เป็นนามศัพท์ คุณศัพท์และกิริยาศัพท์ เช่น

๑) นามศัพพ์ คำว่า มจฺโจ ท่านขยายความว่า สตฺโต นโร มานโว โปโส ปุคฺคโล ชีโว ชาคุ ชนฺตุ อินฺทคุ มนุโช แปลว่า สัตว์ นรชน มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ คำว่า มโน ขยายความว่า จิตฺตํ มโน มานสํ หทยํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญฺญาณธาตุ แปลว่า จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ

๒) คุณศัพท์ เช่น มนุสฺสานํ อปฺปกํ ชีวิตํ ปริตฺตกํ ชีวิตํ โถกํ ชีวิตํ ขณิกํ ชีวิตํ ลหุกํ ชีวิตํ อิตฺตรํ ชีวิตํ อนทฺธนียํ ชีวิตํ น จิรฏฺฐิติกํ ชีวิตํ แปลว่า ชีวิตของมนุษย์น้อย เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน

๓) กิริยาศัพท์ เช่น วเทยฺย กเถยฺย ภเณยฺย ทีเปยฺย โวหเรยฺย แปลว่า พึงพูด พึงกล่าว พึงบอก พึงแสดง พึงชี้แจง หรือ ปสฺสติ ทกฺขติ นิชฺฌายติ อุปปริกฺขติ แปลว่า แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู

ข้อสังเกตกิริยาศัพท์ที่ท่านนำมาอธิบายนี้มีลักษณะอธิบายจากขั้นหยาบไปหาขั้นละเอียด เช่น ศัพท์ชุดเรื่องสิกขา ดังนี้ เมื่อบุคคลนึก ชื่อว่าศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่าศึกษาเมื่อพิจารณา ชื่อว่าศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่าศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่าศึกษา

อาจกล่าวได้ว่าสิกขาตามระบบนี้เป็นลำดับแห่งการปฏิบัติตามลำดับญาณก็ได้เพราะเริ่มมาตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียดคือกิจในอริยสัจ ๔ นั้นเอง แม้การอธิบายเรื่องกามก็ขยายความตั้งแต่กามอย่างหยาบจนถึงกามอย่างประณีต

๓.๓ ระเบียบวิธีอธิบายพุทธธรรม

การจัดระเบียบในการอธิบายพุทธธรรม ถึงแม้ว่ามหานิทเทสจะไม่ได้กล่าวไว้ แต่เมื่อมองจากระบบอธิบายธรรมในแต่ละนิทเทสจะมีลักษณะไปตามโครงสร้างหลัก ๓ ประการคือ อุทเทส นิทเทสและปฏินิทเทส ดังนี้

๓.๓.๑ ตั้งบทอุทเทส คือนำพระพุทธภาษิตมาตั้ง แล้วอธิบายแต่ละศัพท์ เช่น

กามํ กามยมานสฺสาติ อุทฺทานโต เทว กามา : วตฺถุกามา จ กิเลสกามา จ แปลว่า คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม เป็นต้น

๓.๓.๒ นิทเทส ขยายความด้วยวิธีการด้านไวยากรณ์ มีการใช้ศัพท์ ดังนี้

(๑) กตม ศัพท์นี้มักใช้เป็นคำถามนำ โดยถามเพื่อแยกประเภทธรรม เช่น กตเม วตฺถุกามา วัตถุกามเป็นไฉน กตเม กิเลสกามา กิเลสกามเป็นไฉน กตมํ ตณฺหามมตฺตํ ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาเป็นไฉน เป็นต้น การตั้งคำถามแบบนี้นิยมมากในมหานิทเทสและจูฬนิทเทส เรียกตามลักษณะว่าเป็นคำถามแบบปฏินิทเทส คือ ถามเองตอบเอง

(๒) กถํ ใช้ถามเพื่ออธิบายวิธีปฏิบัติ ขั้นตอนการลงมือกระทำ เช่น กถํ เต กามา ปริหายนฺติ กามทั้งหลายเหล่านั้นเสื่อมไปได้อย่างไร กถํ จะแตกต่างจาก กตม ตรงที่ กถํ มักจะเป็นรูปประโยคที่สมบูรณ์โดยมีประธานและกิริยา ส่วน กตม เป็นลักษณะวลี เช่น กถํ สมุจฺเฉทโต กาเม ปริวิชฺเชติ แปลว่า บุคคลย่อมละกามทั้งหลายได้โดยการตัดขาดเป็นอย่างไร

(๓) เกนฏฺเฐน ใช้วิเคราะห์เพื่อให้เห็นรากศัพท์ เช่น เกนฏฺเฐน สปฺโป ชื่อว่างู เพราะอรรถว่าอย่างไร ลักษณะเช่นนี้มุ่งอธิบายเชิงภาษาศาสตร์

(๔) อปเรหิปิ อปิจ และ อถ วา ใช้ขยายความในกรณีมีหลายประเด็น หรือนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอธิบายหลายอย่างและมีความหมายอื่นอีก เป็นการทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อความให้กลมกลืนเป็นเอกภาพ และมีใช้มากกว่าอปเรหิปิ

(๕) วุตฺตํ เหตํ ภควตา เป็นการอ้างอิงหลักฐานที่เป็นพระพุทธพจน์ ส่วนนี้จะมีรูปแบบเหมือนในอิติวุตตกะ การอ้างอย่างนี้มีทั้งที่เป็นคาถาและเป็นร้อยแก้ว ช่วยให้การขยายความพิสดารยิ่งขึ้น แต่ก็มีอย่างอื่นปนบ้าง เช่น คำว่า ภาสิตมฺปิ เหตํ แต่บางครั้งก็ไม่ได้อ้างที่มาทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าท่านมุ่งเพื่อความเข้าใจสาระธรรมมากกว่าที่จะจดจำที่มาของพระสูตร

(๖) และ วา นิบาตสองศัพท์นี้ใช้ควบนามนาม หรือคุณนามอย่างเด่นชัด เช่น กิเลสา จ ขนฺธา จ อภิสงฺขารา จ บางครั้งก็สนธิ เช่น ตณฺหามมตฺตญฺจ ทิฏฺฐิมมตฺตญฺจ และ ขตฺติโย วา พฺราหมโณ วา เวสฺโส วา สุทฺโท วา คหฏฺโฐ วา ปพฺพชิโต วา เทโว วา มนุสฺโส วา จ และ วา นี้ได้ช่วยให้การขยายความได้ชัดเจนและพิสดารทุกแง่มุม

(๗) ยถา เอวํ หรือ ย-ต เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการขยายความด้วยการอุปมาอุปไมยให้ชัดเจน เช่น ยถา วาริ ปทุมปตฺตเต น ลิมฺปติ… เอวเมว ตสฺมึ ปุคฺคเล อรหนฺเต ขีณาสเว ปริเทโว จ มจฺฉริยญฺจ น ลิมฺปติ แปลว่า หยาดน้ำไม่ติดบนใบบัวฉันใด ความคร่ำครวญและความตระหนี่ย่อมไม่ติดบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้น ฉันนั้น บางครั้งท่านใช้ ยถา วางไว้หลายครั้ง แต่วาง เอวํ ไว้เพียงครั้งเดียวก็มี เช่น ยถา สโส… ยถา โกตฺถุโก… ยถา วจฺฉโก…ยถา ธงฺโก… ยถา จณฺฑาโล…ยถา ปํสุปิสาจโก… เอวเมว ปสูโร… แปลว่า เปรียบเหมือนกระต่ายกับช้างใหญ่… เปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอกกับราชสีห์… เปรียบเหมือนลูกโคเล็กๆกับโคอุสภะ… เปรียบเหมือนกากับพญาครุฑ… เปรียบเหมือนคนจัณฑาลกับพระเจ้าจักรพรรดิ… เปรียบเหมือนปีศาจคลุกฝุ่นกับพระอินทร์…เปรียบเหมือนปสูรปริพาชกกับพระพุทธเจ้า การอุปมาอุปไมยลักษณะนี้ก็เพื่อให้มองเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามซึ่งเปรียบเทียบกันไม่ได้ ทั้งนี้เพื่ออธิบายยกย่องพระพุทธเจ้าว่าไม่มีผู้ใดเปรียบเทียบได้

การอุปมาแบบนี้เรียกว่า การอุปมาแบบอุปลักษณ์ (metaphor) คือการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเหมือนสิ่งหนึ่ง เช่น พระผู้มีพระภาคมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม มีปกติตรัสไพเราะดุจนกการเวกและเปรียบเทียพระพุทธเจ้าดุจนาค ดุจพญาช้าง หรือดุจราชสีห์ สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกลดุจภูเขาหิมพานต์ อสัตบุรุษย่อมไม่ปรากฏดุจลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน

๓.๓.๔ การสรุปจบ เมื่ออธิบายบทอุทเทสครบทุกศัพท์แล้ว ตอนท้ายก็จะอ้างบทอุทเทสนั้นทุกครั้ง โดยใช้คำว่า เตนาห ภควา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า…ซึ่งการสรุปอย่างนี้เป็นการย้ำให้ผู้ฟังได้เพิ่มความทรงจำไว้อันเป็นระบบของมุขปาฐะนั่นเอง

๔. ลักษณะการวิเคราะห์และขยายความ

๔.๑ การขยายความตามตัวอักษร เช่น นาคะ ผู้ไม่ทำชั่ว โดยวิเคราะห์ว่า ภควา อาคํ น กโรตีติ นาโค, น คจฺฉตีติ นาโค, น อาคจฺฉตีติ นาโค คำแปล พระผู้มีพระภาคได้พระนามนาค เพราะไม่ทำความชั่ว เพราะไม่ไปสู่กิเลส เพราะไม่กลับมาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว

กิเลสเครื่องร้อยรัดชื่อวิสัตติกา วิเคราะห์ว่า วิสตาติ วิสตฺติกา, วิสาลาติ วิสตฺติกา, วิสฏาติ วิสตฺติกา, วิสกฺกตีติ วิสตฺติกา, วิสํหรตีติ วิสตฺติกา, วิสํวาทิกาติ วิสตฺติกา, วิสมูลาติ วิสตฺติกา, วิสผลาติ วิสตฺติกา, วิสปริโภโคติ วิสตฺติกา คำแปล กิเลสเครื่องร้อยรัดชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป..เพราะซ่านไป เพราะขยายไป…เพราะครอบงำ…เพราะสะท้อนไป… เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด… เพราะมีรากเป็นพิษ… เพราะมีผลเป็นพิษ… เพราะเป็นตัวการให้บริโภคสิ่งมีพิษ

พระศาสดา(สตฺถา) อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงนำหมู่ ชื่อว่าพระศาสดา และได้ขยายความเพิ่มเติมด้วยอุปมาโวหารว่า บุคคลผู้นำหมู่เกวียน (สตฺถวาโห) ย่อมนำหมู่เกวียนข้ามที่กันดาร คือ ข้ามที่กันดารเพราะโจร ที่กันดารเพราะสัตว์ร้าย ที่กันดารเพราะอดอยาก ที่กันดารเพราะขาดน้ำ แล้วส่งให้ถึงถิ่นที่ปลอดภัยฉันใด พระผู้มีพระภาคผู้ทรงนำหมู่(สตฺถวาโห) ย่อมทรงนำหมู่ข้ามที่กันดาร คือ ข้ามที่กันดารเพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ที่กันดารเพราะความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ที่กันดารเพราะความกำหนัด ความขัดเคือง ความจมลง ความถือตัว ทิฏฐิ กิเลส และที่กันดารเพราะทุจริต ทรงส่งให้ถึงอมตนิพพานอันเป็นแดนเกษม ฉันนั้นเหมือนกัน

๔.๒ การขยายความแบบพิสดาร เช่น คำว่า ภควา ขยายความถึง ๒๒ ความหมาย โดยเริ่มตั้งแต่ความหมายแห่งความเคารพนอบน้อม ๑ อย่าง ความหมายในทางจำกัดกิเลส ๗ อย่าง ความหมายแห่งการจำแนกธรรมและฝึกตน ๔ อย่าง ความหมายแห่งความสันโดษ ๒ อย่าง ความหมายแห่งผู้ดื่มธรรมรส ๑ อย่าง ความหมายแห่งการบรรลุธรรมและได้คุณวิเศษ ๕ อย่าง ความหมายแห่งพระนามที่ทรงได้รับเองโดยไม่มีใครตั้งให้ ๑ อย่าง และความหมายแห่งสัพพัญญุตญาณ ๑ ความหมายที่พิสดารนี้ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มอื่นเลย เราจะพบได้ในมหานิทเทสนี้ นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกมากมายที่ขยายความในลักษณะเดียวกัน

อีกคำหนึ่งที่ขยายไว้มากคือ คำว่า โลก ขยายเป็นโลก ๑๘ ดังนี้

โลก ๑ คือ ภวโลก โลก ๒ คือ ภวโลกที่เป็นสมบัติและภวโลกที่เป็นวิบัติ

โลก ๓ คือ เวทนา ๓ โลก ๔ คือ อาหาร ๔

โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖

โลก ๗ คือ วิญญาณัฐิติ ๗ โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘

โลก ๙ คือ สัตตาวาส ๙ โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐

โลก ๑๑ คือ กามภพ ๑๑ โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒

โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘

การขยายศัพท์อย่างนี้ทำให้มองเห็นโลกในลักษณะทั้งที่เป็นกายภาพและจินตภาพ หรือโลกภายนอกและโลกภายใน จากขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด

๕. อิทธิพลของมหานิทเทสต่อวรรณกรรมพระพุทธศาสนา

๕.๑ อิทธิพลต่อคัมภีร์วิสุทธิมรรค

มหานิทเทสมีอิทธิพลต่อคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งในด้านโครงสร้างและรูปแบบการอธิบายธรรม ในด้านโครงสร้างของวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสาจารย์ได้นำพระพุทธภาษิตมาเป็นบทอุทเทส จากนั้นก็นิทเทสไปตลอดจนจบทั้งคัมภีร์ ส่วนคำปฏินิทเทสยังคงเป็นคำที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของนิทเทสเช่นเดิม แตกต่างตรงที่วิสุทธิมรรคใช้บทอุทเทสเพียงครั้งเดียว แล้วนำเสนอตามกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา อธิบายแต่ละนิทเทสให้สัมพันธ์กันทุกขั้นตอน เนื้อหาชัดเจนและกระซับ โดยมีหลักการและวิธีการรจนา ดังนี้

๕.๑.๑ หลักการและวิธีการรจนาวิสุทธิมรรค

๑) นิทานกถา เป็นส่วนแนะนำเบื้องต้น ประกอบด้วย

(๑) อุทเทส หรือพระพุทธภาษิต บอกที่มาแห่งพระพุทธภาษิต

(๒) พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหน อย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว พระพุทธโฆสะมักจะเริ่มต้นรจนาคัมภีร์ด้วย คันถารัมภกถา หรือปณามคาถา ซึ่งเป็นการแสดงความนอบน้อมพระรัตนตรัยก่อน จากนั้นจึงจะกล่าวนิทานกถาตามลำดับ เช่น ในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี และปปัญจสูทนี เป็นต้น แต่ในวิสุทธิมรรคเริ่มที่นิทานกถาก่อน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าคัมภีร์นี้มีคาถาอุทเทสซึ่งเป็นพระพุทธพจน์อยู่ก่อนแล้ว และเป็นการรจนาอย่างอิสระที่ต่างจากอรรถกถาเล่มอื่น ฉะนั้นจึงไม่มีคันถารัมภกถาหรือปณามคาถา

๒) วัตถุประสงค์และประโยชน์ของคัมภีร์ ส่วนนี้บอกความประสงค์ในการรจนาคัมภีร์ ผู้อาราธนา และประโยชน์ของคัมภีร์ต่อผู้ศึกษา โดยในที่นี้พระพุทธโฆสะกล่าวว่า ได้อธิบายศาสนธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้และอาศัยนัยของพระเถระชาวมหาวิหาร เพื่อประโยชน์แก่พระโยคีทั้งหลาย จะได้เป็นเครื่องนำทางไปสู่ความหลุดพ้น

ดูเหมือนว่าพระพุทธโฆสะตั้งใจที่จะรจนาวิสุทธิมรรคให้เป็นคัมภีร์สำหรับอ้างอิง เพราะในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ปปัญจสูทนี มโนรถปูรณี และสารัตถปกาสินี หรือแม้แต่ในอัฏฐสาลินี มักจะอ้างถึงวิสุทธิมรรค พร้อมทั้งกล่าวว่าหลักธรรมนี้ได้อธิบายไว้แล้วในวิสุทธิมรรค เช่น ข้อความในปปัญจสูทนีว่า

เรื่องศีล ธุดงค์ กรรมฐานทั้งหมด ฌานสมาบัติ อภิญญา ปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ๔ การแสดงปัจจยาการ วิปัสสนาภาวนา…ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค…ข้าพเจ้ารจนาไว้แล้วด้วยประสงค์ว่า วิสุทธิมรรคนี้ตั้งอยู่แล้วในท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง ๔ (คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกายและอังคุตตรนิกาย) …

จึงเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของวิสุทธิมรรคโดยหลักใหญ่คือต้องการให้เป็นคัมภีร์ศูนย์กลาง แห่งอรรถกถาเล่มอื่น ๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมท่านไม่เอ่ยถึงนิกายที่ ๕ คือ ขุททกนิกาย หรือเป็นเพราะขุททกนิกายมีผู้รจนาหลายท่าน จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาสืบค้นต่อไป

๓) ขอบเขตของคัมภีร์ และนิยามความหมาย ส่วนนี้บอกขอบเขตของคัมภีร์ว่าครอบคลุมถึงเรื่องใดบ้าง จากนั้นก็นิยามความหมาย โดยเริ่มจากวิเคราะห์คำว่าวิสุทธิมรรค และบอกขอบเขตว่ามีเนื้อหาครอบคลุมถึงวิปัสสนา ฌาน ปัญญา กรรม ศีล สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน เป็นต้น จากนั้นก็นิยามความหมายของคำว่า สีเล ปติฏฐาย …เป็นต้นไปจนถึง โส อิมํ วิชฏเย ชฎํ ว่ามีความหมายอย่างไร

ในคาถาอุทเทสจะมีคำที่เป็นชื่อปัญญาอยู่ ๓ คำ คือ สปญฺโญ ปญฺญํ และ นิปโก พระพุทธโฆสะจะแยกให้ชัดว่า ปัญญาตัวแรกหมายถึงชาติปัญญาที่ติดตัวมาแก่เกิด ปัญญาตัวที่ ๒ หมายถึงวิปัสสนาปัญญา คือปัญญาที่เจริญขึ้นใหม่ และปัญญาคำที่ ๓ หมายถึงปาริหาริกปัญญา

๔) อธิบายอุทเทสโดยย่อ ผู้ดำรงในศีลเป็นอย่างไร นระ(คน)หมายถึงใคร จิต ปัญญา อาตาปี นิปกะและภิกขุ มีความหมายกว้างแคบอย่างไร เป็นต้น ซึ่งลักษณะนี้คล้ายกับบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์ในปัจจุบัน

การอธิบายในส่วนนี้เหมือนการนำเข้าสู่เรื่อง แต่ให้ทราบโดยย่อว่าเรื่องที่จะกล่าวนี้ครอบคลุมเรื่องไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการยืนยันว่าท่านได้ประกาศธรรมของพระพุทธเจ้าตรงตามที่พระองค์ตรัส กล่าวคือการประกาศธรรมที่มีครอบคลุม สิกขา ๓ ศาสนามีความงาม ๓ อุปนิสัยแห่งคุณวิเศษมีบรรลุวิชชา ๓ เป็นต้น การเว้นที่สุดโต่ง ๒ อย่าง และการปฏิบัติตามทางสายกลาง อุบายสำหรับก้าวพ้นจากคติมีอบายเป็นต้น การละกิเลสด้วยอาการ ๓ ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อโทษมีวีติกกมเป็นโทษ การชำระสังกิเลส ๓ และเหตุแห่งความเป็นอริยบุคคลมีโสดาบันเป็นต้น

๔.๑.๒ หลักอธิบายธรรม

เมื่อเข้าสู่เนื้อหาธรรมะแล้ว พระพุทธโฆสะได้วางหลักในการอธิบายธรรมไว้อย่างดี โดยสังเกตจากข้อความที่ท่านกล่าวไว้ตอนเริ่มต้นอธิบายปฏิจจสมุปบาท ๑๐ ประการ คือ

๑) วิภชฺชวาทิมณฺฑลํ โอตริตฺวา ก้าวลงสู่มณฑลแห่งวิภัชชวาที หรือการอธิบายที่ต้องจำแนกแยกประเด็นให้ชัดเจน หลายแง่มุม

๒) อาจริเย อนพฺภิจิกขนฺเตน ไม่กล่าวตู่อาจารย์ทั้งหลาย

๓) สกสมยํ อโวกฺมนฺเตน ไม่อธิบายเข้าข้างตน

๔) ปรสมยํ อนายูหนฺเตน ไม่วิวาทหรือปฏิเสธความเห็นคนอื่น

๕) สุตฺตํ อปฺปฏิหนฺเตน ไม่อธิบายข้ามพระสูตร

๖) วินยํ อนุโลเมนฺเตน อนุโลมคล้อยตามพระวินัย

๗) มหาปเทเส โอโลเกนนเตน ตรวจสอบดูในมหาปเทส

๘) ธมฺมํ ทีเปนฺเตน มุ่งแสดงธรรมะ หรือมุงแสดงเหตุ

๙) อตฺถํ สงฺคาเหนฺเตน มุ่งรวบรวมผล หรือถือเอาความหมายให้ได้

๑๐) ตเมวตฺถํ ปุนราวตฺเตตฺวา อปเรหิปิ ปริยาเยหิ นิทฺทิสนฺเตน อธิบายความหมายซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยวิธีการหลากหลาย

หลัก ๑๐ ประการนี้ดูเหมือนว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่พระอรรถกถาจารย์และพระฏีกาจารย์ทั้งหลายต้องถือปฏิบัติ มิฉะนั้นแล้วความเป็นนักเผยแผ่ก็จะมีอคติ อธิบายไม่รัดกุม ยกตนข่มท่าน ในที่สุดก็จะไม่สามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้

วิธีการ

๑) การตั้งเป็นคำถามนำเป็นข้อ ๆ แล้วตอบ เช่น

(๑) กึ สีลํ ศีลคืออะไร (๒) เกนฏฺเฐน สีลํ ศีลมีอรรถว่าอย่างไร

(๓) กานสฺส ลกฺขน รส ปจฺจุปฏฺฐาน ปทฏฺฐานานิ ลักษณะ รส(กิจ สมบัติ)

ปัจจุปัฏฐาน(ความสะอาด) ปทัฏฐาน (เหตุใกล้ คือหิริโอตตัปปะ) ของศีลนั้นเป็น

อย่างไร

(๔) กิมานิสํสํ สีลํ ศีลมีอะไรเป็นอานิสงส์

(๕) กติวิธํ เจตํ สีลํ ศีลนั้นมีกี่อย่าง

(๖) โก จสส สํกิเลโส อะไรเป็นความเศร้าหมองของศีล

(๗) กึ โวทานํ อะไรเป็นความผ่องแผ้วของศีล

ประเด็นคำถามที่ได้รับการเน้นเป็นพิเศษคือคำว่า ”อย่างไร" เนื้อหาส่วนนี้มีการอธิบายมากกว่าส่วนอื่นและโดดเด่นที่สุด จากนั้นก็อธิบายไปโดยลำดับ มีทั้งอธิบายแบบวิเคราะห์ศัพท์ และแบบอธิบายความ ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกมาอ้างได้อย่างเหมาะสม ชัดเจน และกลมกลืน

๒) อุปมาอุปไมย การอธิบายเปรียบเทียบ เป็นลีลาการแสดงธรรมที่งดงามอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะทำให้ผู้ฟังมองเห็นภาพได้ชัดเจน และสร้างจินตนาการตามได้ง่าย ส่วนมากอุปมาอุปไมยมักจะใช้ในกรณีเรื่องที่เป็นนามธรรมเข้าใจยาก การยกเรื่องราวมาเปรียบเทียบมีทั้งในพระไตรปิฎก และเหตุการณ์ในบริบทสังคมลังกา บางครั้งนำเรื่องราวในชาดกและเถรคาถาเถรีคาถา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหานั้น ๆ ด้วย

ข้อสังเกตการจัดประเภทธุดงค์ ในมหานิทเทสมีธุดงค์ ๘ ส่วน วิสุทธิมรรค มี๑๓

ตารางเปรียบเทียบเรื่องธุดงค์

ธุดงค์ ๘ ในมหานิทเทส

ธุดงค์ ๑๓ ในวิสุทธิมรรค

๑. อารัญญิกังค

๑. ปํสุกูลิกังคธุดงค์ (๓)

๒. ปิณฑปาติกังค

๒. เตจีวริกังคธุดงค์ (๔)

๓. ปํสุกูลิกังค

๓. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ (๒)

๔. เตจีวริกังค

๔. สปทานจาริกังคธุดงค์ (๕)

๕. สปทานจาริกังค

๕. เอกาสนิกังคธุดงค์ (เพิ่มใหม่)

๖. ขลุปัจฉาภัตติกังค

๖. ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ (เพิ่มใหม่)

๗. เนสสัชชิกังค

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (๖)

๘. ยถาสันถติกังค

๘. อารัญญิกังคธุดงค์ (๑)

 

๙. รุกขมูลิกังคธุดงค์ (เพิ่มใหม่)

 

๑๐. อัพโภกาสิกังคธุดงค์ (เพิ่มใหม่)

 

๑๑. โสสานิกังคธุดงค์ (เพิ่มใหม่)

 

๑๒. ยถาสันถติกังคธุดงค์ (๘)

 

๑๓. เนสสัชชิกังค (๗)

ขุ.ม.(บาลี)๒๙/๑๗/๕๓

วิสุทธิ. ๑/๒๓/๖๒–๖๔

การเรียงลำดับธุดงค์ที่แตกต่างกันของคัมภีร์ทั้งสอง อาจวิเคราะห์ได้ว่า มหานิทเทสเรียงลำดับอารัญญิกธุดงค์ไว้แรกสุด สมัยพุทธกาลเน้นการสอนแบบอนาคาริก ป่าจึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในฐานะเป็นที่อยู่หลัก ถ้าอาศัยป่าที่มีสภาพแวดล้อมดีก็จะอำนวยแก่การประพฤติพรหมจรรย์ จากนั้นวิถีชีวิตจึงดำเนินไปตามลำดับ และที่มหานิทเทสไม่มีธุดงค์ข้อ ๙,๑๐,๑๑ อาจเป็นเพราะว่าทั้งสามข้อนี้นับเนื่องในอารัญญิกธุดงค์

อนึ่ง การอยู่ป่าเป็นสิ่งที่นิยมกันมากของนักบวชสมัยนั้น คำสอนของพระองค์ก็ทรงยกย่องการอยู่ป่า พระมหากัสสปะก็ถือธุดงค์อยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกูลเป็นวัตรใช้ไตรจีวรเป็นวัตร แม้พระเทวทัตก็นำเรื่องการอยู่ป่ามาเป็นข้อแรกในการทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ภิกษุปฏิบัติ จากนั้นจึงเสนอเรื่องปิณฑบาต บังสุกุล และรุกขมูล การนำเสนอของพระเทวทัตสะท้อนให้เห็นความนิยมของคนในสังคมด้วย และดูเหมือนว่าพระเทวทัตจับกระแสศรัทธาของคนได้ถึงขนาดทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเลื่อมใส พระเทวทัตจึงใช้ธุดงค์มาเปิดประเด็นทางศาสนาและทางการเมืองอย่างน่าศึกษา

ส่วนวิสุทธิมรรคได้เรียงข้อ ๒, ๓ ก่อน อาจเป็นเพราะว่าแนวการสอนแบบอนาคาริกลดความเข้มข้นลง พระสงฆ์ส่วนมากมีเสนาสนะอาศัยเป็นกิจลักษณะแล้ว ทั้งการดำเนินชีวิตก็อยู่กับครูอาจารย์เพื่อศึกษาเล่าเรียนตำราคัมภีร์ เปลี่ยนจากอนาคาริกมาเป็นอาคาริก

๔) การให้คำจำกัดความ บางครั้งเพื่อไม่ให้ประเด็นออกนอกกรอบ ท่านจะให้คำจำกัดความให้ชัดว่าสิ่งนี้หมายถึงอะไร เช่น คำว่า ภิกษุ ในคานี้อุทเทสนี้หมายถึงผู้เห็นภัยในสงสาร เป็นต้น

๕) การอ้างอิงหลักฐาน การอ้างอิงเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งในวิสุทธิมรรค หลักฐานที่อ้างส่วนมากเป็นพระพุทธพจน์ และสาวกภาษิต รูปแบบในการอ้างมีหลากหลาย มีการบอกที่มาของคัมภีร์บ้าง ใช้เป็นคำกลาง ๆ ว่า วุตฺตญฺหิ ภควตา, วุตฺตเญฺหตํ, วุตฺตมฺปิ เหตํ, วุตฺตมฺปิ เจตํ, อปรมฺปิ วุตฺตํ, และ ยถาห จากนั้นก็อธิบายขยายความจนกระจ่างชัดแล้วสรุปจบด้วยการแสดงผลของการปฏิบัติตาม

๖) นิคมนกถา เป็นการสรุปจบ ตอนนี้มักผูกเป็นคาถาบอกถึงความวิริยะอุตสาหะในการรจนาคัมภีร์ ปีที่แต่ง สมัยรัชกาลของกษัตริย์พระองค์ใด พร้อมทั้งตั้งความปรารถนาให้พระสัทธรรมตั้งอยู่นานเพื่อประโยชน์ต่อชาวโลก

วิธีการอธิบายธรรมในวิสุทธิมรรคตามที่เสนอมานี้เป็นการสืบค้นเพียงบางส่วนเพื่อนำมาเทียบเคียงให้เห็นพัฒนาการของการรจนาคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ที่ผ่านการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับบริบททางสังคมแต่ละสมัย

 

๖. บทสรุปและวิเคราะห์

จากการศึกษาวิจัยคัมภีร์มหานิทเทสที่ผู้จัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ศึกษากรอบแนวคิด วัตถุประสงค์ของการอธิบาย วิธิการขยายความพุทธธรรม และอิทธิพลของคัมภีร์ทั้งสองที่มีต่อวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในยุคต่อมา สามารถสรุปผลในแต่ละส่วนได้ดังนี้

๖.๑ กรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ของการอธิบาย

มหานิทเทสได้อธิบายพุทธธรรมภายใต้กรอบแนวคิดที่เป็นโครงสร้างหลัก ๓ ประการ คือ อุทเทส นิทเทส และปฏินิทเทส นิทเทสจะทำหน้าที่หลักในการขยายความพระพุทธพจน์ให้หลากหลายและมีทางเลือกมากมาย ภายในความหลากหลายนี้มหานิทเทสก็พยายามตีกรอบตัวเองให้อยู่ในระบบไตรสิกขา และอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยมีเป้าหมายคือพระนิพพาน แต่ดูเหมือนว่านิทเทสในมหานิทเทสจะเน้นการอธิบายในเชิงปริยัติศาสนามากกว่าปฏิบัติศาสนา และจุดนี้เองที่ทำให้มหานิทเทสแตกต่างจากการอธิบายธรรมในพระสูตรเล่มอื่นที่แสดงเท่าที่จำเป็นและมุ่งการปฏิบัติของผู้ฟัง

การแสดงธรรมตามแนวพระสูตรทั่วไป มุ่งให้ผู้ฟังเข้าใจและนำไปปฏิบัติ การยกอุทเทสและนิทเทสก็แสดงเท่าที่จำเป็น หรือบางครั้งพระพุทธองค์ทรงยกเฉพาะอุทเทสแล้วเสด็จพักผ่อนไม่แสดงต่อก็มี ลักษณะเช่นนี้อาจมองได้หลายประเด็นคือ ๑) ทรงต้องการให้ภิกษุนำไปขบคิด ๒) ทรงต้องการให้พระสาวกผู้ใหญ่ได้อธิบายต่อจากพระองค์ ข้อนี้เป็นการพิสูจน์ว่าพระสาวกเข้าใจคำสอนของพระองค์มากน้อยเพียงไร สามารถสืบทอดคำสอนได้หรือไม่ ๓) ทรงต้องการให้ภิกษุทั้งหลายเคารพและเห็นคุณค่าของพระอัครสาวกและพระสาวกผู้ใหญ่ซึ่งจะเป็นตัวแทนพระพุทธองค์สืบไป ๔) ทรงต้องการให้ภิกษุมีกัลยาณมิตรและเป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน สร้างองค์กรสงฆ์ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง โดยอาศัยคำสอนของพระองค์เป็นสื่อกลาง นั่นคือมอบให้พระธรรมวินัยเป็นใหญ่ในการปกครองคณะสงฆ์

การที่มหานิทเทสได้อธิบายธรรมอย่างพิสดารทุกแง่มุมเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า ๑) ต้องการสร้างหลักแห่งการอธิบายพุทธธรรมอย่างเป็นระบบเชิงปริยัติศาสนา ๒) ต้องการแสดงภูมิปัญญาแบบพุทธที่ละเอียดลึกซึ้งทางด้านภาษาศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและการดูหมิ่นจากศาสนาอื่น ๓) ต้องการให้พุทธธรรมขยายตัวทั้งเชิงรูปแบบและเนื้อหาสู่สังคมโลก เปิดเวทีแก่พระสาวกสายสุตตันตะอื่นมีฐานในการนำเสนอพุทธธรรม กรณีนี้มหานิทเทสจึงเป็นเหมือนการจุดประกายให้พระสงฆ์สายอภิธรรมขยายตัวออกมาอย่างมากมายก็ได้ และเมื่อบวกกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมในช่วงปลายพุทธกาลและหลังพุทธกาลแล้วนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางศาสนา พระสาวกผู้ใหญ่จึงต้องพยายามสร้างกรอบและระบบของพระพุทธศาสนาในเชิงปริยัติศาสนา

๖.๒ วิธีการขยายความพุทธธรรม

มหานิทเทสได้ตีความพุทธธรรม ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะแรก ขยายความตามตัวอักษร โดยพยายามแยกวิเคราะห์จนถึงรากศัพท์ เผยความหมายที่ยังซ่อนเร้นอยู่ภายในศัพท์ให้ปรากฏออกมาหลายลักษณะ จนบางครั้งอาจดูเป็นฟั่นเฝือไป ในความหลากหลายที่เผยออกมานั้นล้วนมีสารัตถะที่กำลังรอคอยให้ผู้ศึกษาได้เลือกเฟ้นเพียงบางความหมายนำไปเผยแผ่และปฏิบัติตามจริตของตน และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวด้วยการบรรลุสัจธรรม ลักษณะที่สอง ขยายความแบบพิสดาร การตีความแง่นี้ไม่ได้มุ่งวิเคราะห์รากศัพท์เท่าใดนัก แต่มุ่งขยายความให้พุทธธรรมมีขอบเขตครอบคลุมทั้งด้านวัตถุและนามธรรม เช่น การขยายความเรื่องโลกซึ่งขยายให้เห็นโลกที่เป็นวัตถุหรือโลกภายนอก และโลกภายในคือโลกที่เป็นอินทรีย์แห่งชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุด

นอกจากนี้ มหานิทเทสยังได้ไปไกลในลักษณะที่ดึงเอาทางด้านภูมิศาสตร์มาเสริมในการตีความด้วย เช่น บุคคลผู้ถูกตัณหาครอบงำต้องแล่นเรือแสวงหาโภคทรัพย์ไปสู่สมุทร ฝ่าหนาวฝ่าร้อน เดินทางไปถึงคุมพรัฐ ตักโกลรัฐ(ตะกั่วป่า) ตักกสิลรัฐ… ชวารัฐ ตามลิงครัฐ(นครศรีธรรมราช) … สุวรรณกูฏรัฐ สุวรรณภูมรัฐ ตัมพปาณิรัฐ เป็นต้น ทำให้มองเห็นว่ารัฐโบราณเหล่านี้ตั้งอยู่ไกลและต้องเดินทางด้วยความยากลำบาก ที่พออ้างแล้วทำให้ผู้คนหวาดกลัว และทำให้มองเห็นว่าโลกทัศน์ของมหานิทเทสได้มองออกไปไกลถึงรัฐในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการค้าขายทางเรือด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามหานิทเทสจะตีความอย่างวิจิตรพิสดารมากมายเพียงไรก็ตาม แต่เอกลักษณ์ที่เป็นแบบอย่างอย่างหนึ่งและมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมยุคต่อมาคือ การอ้างอิงหลักฐานที่เป็นพระพุทธพจน์มารองรับการอธิบายทุกครั้ง ทำให้การอธิบายมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ วัฒนธรรมแห่งการอ้างพระพุทธพจน์นี้ได้ซึมลึกในวรรณกรรมระดับอรรถกถา ฏีกา และคันถันตระอื่น ๆ มากมาย

๖.๓ อิทธิพลของมหานิทเทสต่อวรรณกรรมพระพุทธศาสนา

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงการแห่งปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแล้วว่า มหานิทเทสเป็นคัมภีร์ที่เป็นแม่แบบต่ออรรถกถาและฎีกาในยุคต่อมา โดยเฉพาะคัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวรรณกรรมพระพุทธศาสนาที่ชาวต่างประเทศยกย่อง วิสุทธิมรรคซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆสาจารย์นักปราชญ์ผู้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทให้กลับมาสู่แดนมาตุภูมิ โครงสร้างของวิสุทธมรรคได้ใช้คำ “นิทเทส" เป็นตัวนำหลักในการอธิบายธรรมจากคาถาอุทเทสเพียงคาถาเดียว ใช้นิทเทสขยายได้ถึง ๒๓ นิทเทส โดยเริ่มจากสีลนิทเทสจนถึงปัญญานิทเทส

คัมภีร์อรรถกถาเล่มอื่น มีสุมังคลวิลาสินี ปปัญจสูทนี เป็นต้น ก็ได้อธิบายพุทธธรรมโดยอาศัยมหานิทเทสเป็นตัวอย่าง ประเพณีนี้ได้รับสืบทอดกันมานานและถือเป็นเรื่องสำคัญด้วย เมื่อครั้งที่พระเรวตเถระส่งพระพุทธโฆสาจารย์มาลังกา ก็ได้กำชับว่า "…อรรถกถาสิงหลนั้นเป็นของบริสุทธิ์ซึ่งพระมหินทเถระผู้มีปรีชาได้ชำระยกเอาพระพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วสู่สังคีติ ๓ ครั้งแล้ว สอบสวนกถามรรคซึ่งพระสารีบุตรเป็นต้นกระทำไว้แล้ว แปลงลงในภาษาสิงหล เดี๋ยวนี้ยังใช้กันอยู่ในภิกษุชาวสิงหลทั้งหลาย ท่านจงไปแล้วเรียนคัมภีร์นั้นในลังกาทวีปแล้วแปลออกเป็นภาษามคธ…" ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ถือเป็นข้อปฏิบัติในการรจนาคัมภีร์สืบมา

อิทธิพลของคำว่า “นิทเทส" นี้ยังปรากฏในคัมภีร์เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทสด้วย โดยเนตติใช้เป็นโครงสร้างหลักในการอธิบายธรรม คือยกอุทเทส ๑๖ หาร มีเทสนา วิจยะ เป็นต้น แล้วนิทเทส ๑๖ หารโดยย่อว่าการแสดงอัสสาทะ อาทีนวะ นิสสรณะ เป็นต้นชื่อว่าเทสนาหาร จากนั้นขยายพิสดารโดยปฏินิทเทสในลักษณะถามตอบ เช่น กตโม เทสนาหาโร เทสนาหาระ เป็นไฉน คือ… รูปแบบดังกล่าวนี้ทำให้มองเห็นว่าทั้งสำนักของพระสารีบุตรและสำนักของพระมหากัจจายนะมีความนิยมในการอธิบายธรรมโดยการใช้ นิทเทส เป็นคำหลักในการอธิบายพุทธธรรมเหมือนกัน นี้เป็นการกล่าวในฐานะที่กรณีเนตติปกรณ์พัฒนามาพร้อมกับมหานิทเทส แต่ถ้าเนตติพัฒนาภายหลังมหานิทเทส เนตติก็อาจกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลจากมหานิทเทสนี้ เพียงแต่เนตติจัดรูปแบบการนำเสนอที่เป็นระบบกว่าและโดดเด่นกว่ามหานิทเทส จนนักปราชญ์ชาวตะวันตกตั้งข้อสังเกตดังนี้

พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนับตั้งแต่ยุคต้น ๆ ได้ยึดเอาพระไตรปิฎกเป็นศูนย์กลางของจารีตทางความคิด ยอมรับว่าพระไตรปิฎกคือ “พุทธวจนะ" และเป็น “ธรรมกาย" จากการที่จัดพระไตรปิฎกไว้ในตำแหน่งศูนย์กลางนี้เอง ปัญหาในเชิงการตีความคัมภีร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสายเถรวาท ผลที่ตามมาคือ นิกายเถรวาทได้พัฒนาคำสอนและแนวคิดต่าง ๆ ขึ้นมาในรูปของคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาสำหรับอธิบายพระไตรปิฎก ดังที่ข้าพเจ้าเคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในที่อื่นๆ งานเขียนในแนวอรรถกถาเป็นตัวแทนของการแก้ปัญหาขั้นที่สองและขั้นสุดท้ายของเถรวาทที่เสนอวิธีการตีความหรือการทำความเข้าใจพระไตรปิฎก อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการตีความขั้นแรก ๆ พบในคัมภีร์ยุคหลังพระไตรปิฎก ๒ คัมภีร์ คือ “เนตติปกรณ์" และ “เปฏโกปเทส" หลักการหรือแนวทางสำหรับตีความพระไตรปิฎกในคัมภีร์ทั้งสองนี้ ได้มีอิทธิพลต่อการกำหนดกรอบวิธีคิดในจารีตการแต่งคัมภีร์แนวอรรถกถาของเถรวาทอย่างลึกซึ้ง คัมภีร์ทั้งสองนี้ได้รับการยอมรับตามจารีตว่าเป็นผลงานของท่าน “พระมหากัจจายนะ" ถือว่าเป็นคู่มือการตีความที่สลับซับซ้อนและใช้เทคนิคชั้นสูง แม้คัมภีร์ทั้งสองนี้จะมีเนื้อหาไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็ได้เสนอมุมมองและหลักการตีความอย่างเดียวกัน

เนตติปกรณ์ และ เปฏโกปเทส ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องทางสู่พระนิพพานแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual path) และได้ใช้แนวคิดนี้เป็นยุทธศาสตร์การตีความเพื่ออธิบายหลักธรรม แม้แนวคิดนี้จะเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในพระพุทธศาสนายุคหลัง ทั้งในฝ่ายเถรวาทและมหายาน และได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจารีตทางความคิดของเถรวาทที่ส่งทอดผ่านคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น วิสุทธิมรรค เป็นต้น ดูเหมือนว่าแนวคิดทำนองนี้จะไม่ได้ปรากฏออกมาชัดเจนนักในคัมภีร์เถรวาทยุคก่อนเนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่า คัมภีร์ทั้งสองได้หยิบยกเอาแนวคิดนี้ขึ้นมานำเสนออย่างมีพลังได้อย่างไร บริบทแวดล้อม (context) ในช่วงที่คัมภีร์ทั้งสองเกิดขึ้น สามารถจะแสดงบทบาทกำหนดรูปแบบและทำให้แนวทรรศนะในการตีความมีความสำคัญขึ้นมาได้หรือไม่

แม้ว่าทรรศนะของท่านเหล่านี้จะมองผ่านมหานิทเทสไปโดยมิได้พูดถึงแม้แต่น้อย แต่ผู้วิจัยกลับมองเห็นว่าอาจเป็นข้อผิดพลาดของเขาก็ได้โดยที่อาจคิดว่ามหานิทเทสเป็นพระไตรปิฎกเต็มขั้น ในฐานะที่ผู้วิจัยได้คลุกคลีอยู่กับคัมภีร์พระไตรปิฎกแม้จะยังไม่มาก แต่ก็มองเห็นว่ามหานิทเทสนี้ถึงจะยังไม่เป็นระบบเหมือนกับเนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส แต่อย่างน้อยมหานิทเทสก็ได้คลีคลายขยายตัวเองออกมาสู่เวทีแห่งการวิเคราะห์ตีความพุทธธรรมก่อนกว่าคัมภีร์เล่มอื่นใดในพระไตรปิฎก

บรรณานุกรม

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี. ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ, ๒๕๐๐.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

________. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

________. อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฐกถา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์

วิญญาณ, ๒๕๓๒.

________. ธมฺมปทฏฺฐกถาวณฺณนา ปฐโม-ทุติโย ภาโค ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙.

________. ฎีกาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาฎีกา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๓๙.

________. ปกรณวิเสสภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาปกรณวิเสโส. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์

วิญญาณ, ๒๕๓๙.

________. เนตติ-เปฏโกปเทสปกรณํ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณวิทยาลัย, ๒๕๔๐.

________. มหาวํโส ปฐโม ภาโค. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๐.

ทองใบ แท่นมณี, “การศึกษาเปรียบเทียบด้านภาษาและลีลาโวหารของคัมภีร์สุตตวิภังค์และธัมม

ปทัฏฐกถา.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต. แผนกวิชาภาษาตะวันออก

บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๑.

พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. พิมพ์ครั้งที่ ๔, กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๑.

พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน. “การศึกษาวิเคราะห์พุทธจริยธรรมจากวรรณคดีโคลงโลกนิติ.”

วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.

พินเยนทรนาถ เชาธุรี. พุทธสถานในอินเดียโบราณ. แปลโดย สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. ประวัติวรรณคดีบาลีในอินเดียและลังกา. กรุงเทพมหานคร : สำนัก

พิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.

D. George, Bond, The World of the Buddha: The Tipitaka and Its Interpretation in

Theravada Buddhism. Colombo: M.D. Gunasena & Co. Publishers, 1982.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕