หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายศรัณย์ เลิศรักษ์มงคล
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๐ ครั้ง
การสร้างตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองที่สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : นายศรัณย์ เลิศรักษ์มงคล ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร ป.ธ.๙, M.A., Ph.D.
  รองศาสตราจารย์ ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร ป.ธ. ๙, พ.ม., พธ.บ.(ปรัชญา), พธ.ม., (พระพุทธศาสนา), Ph.D. (Pali & Buddhist Studies)
  ดร. จุฑามาศ วารีแสงทิพย์ วทบ., (เกียรตินิยม),อ.บ. (อภิธรรมบัณฑิต), พธ.ม.(พระพุทธศาสนา), พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดความเป็นพลเมือง ๒) เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดความเป็นพลเมือง และ ๓) เพื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองที่สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  ดำเนินการวิจัยโดยใช้การวิจัยเอกสารและการประยุกต์ใช้เทคนิค EDFR ในการพัฒนาตัวชี้วัดความเป็นพลเมือง โดยมีผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยแบบ EDFR รอบที่ ๑ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ จำนวน ๔ ท่าน ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยแบบ EDFR รอบที่ ๒ และ ๓ จำนวน ๑๒ ท่าน ด้วยวิธีการแสดงความคิดเห็นผ่านแบบสอบถาม ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ในส่วนวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ (EDFR รอบที่ ๑) และการวิเคราะห์ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และวิเคราะห์ค่าสถิติมัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ในการทำวิจัยแบบEDFR รอบที่ ๒ และ ๓

ความเป็นพลเมืองในโลกตะวันตกนั้นหมายถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย การใช้สิทธิเลือกตั้ง   การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองหรือในกิจการของรัฐรูปแบบต่างๆ และความเป็นประชาธิปไตย ส่วนความเป็นพลเมืองในโลกตะวันออก มุ่งเน้นไปในเรื่องความมีคุณธรรมจริยธรรม  การปฏิบัติตนตามหน้าที่รับผิดชอบและตามบทบาทที่ตนเองได้รับให้ดีที่สุดเป็นหลัก ความเป็นพลเมืองในการรับรู้ของสังคมไทยเท่าที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนไปได้ตามแต่ยุคสมัย ปัจจุบันได้เน้นเรื่องการรับผิดชอบต่อส่วนรวมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคกัน

ผลการพัฒนาตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการวิจัยแบบ EDFR พบว่าประกอบด้วย ๓ องค์ประกอบ รวม ๓๐ ตัวชี้วัด คือ ๑) ด้านสมรรถนะของพลเมือง ๒) ด้านการมีส่วนร่วมในสังคม และ ๓) ด้านสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ตัวชี้วัดมีค่ามัธยฐานอยู่ระหว่าง .๐๐-.๐๐ และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์อยู่ระหว่าง ๐.๗๕ -๑.๐๐ จึงสามารถนำตัวชี้วัดดังกล่าวไปใช้ได้เนื่องจากผ่านเกณฑ์ค่ามัธยฐาน ๓.๕๐ ขึ้นไป และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ไม่เกิน ๑.๕๐

ตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองมีความสอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ดังนี้    ๑) ตัวชี้วัดด้านสมรรถนะของพลเมือง สอดคล้องกับหลักธรรม คือ  นาถกรณธรรม ๑๐ และ       อปริหานิยธรรม ๗ ๒) ตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมในสังคมสอดคล้องกับหลักธรรม คือ สังคหวัตถุธรรม ๔ สาราณียธรรม ๔ และพรหมวิหารธรรม ๔ และ ๓) ตัวชี้วัดด้านสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค สอดคล้องกับหลักธรรม คือ อธิปไตย๓ และสัปปุริสธรรม ๗  โดยสามารถนำตัวชี้วัดไปประยุกต์ใช้กับสังคมได้โดยผ่านการวิเคราะห์ด้วยตัวแบบจำลองระบบสังคม

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕