หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิคมธรรมโชติ
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๗ ครั้ง
ศึกษาคติความเชื่อในประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอุ่มเม้า ตำบลเมืองทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิคมธรรมโชติ ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ ป.ธ.๖, พธ.บ., ศศ.บ., MA., Ph.D (Pali & Theravada Buddhism)
  ดร.ไพฑูรย์ สวนมะไฟ ป.ธ.๔, พธ.บ., M.A., Ph.D (Bud.)
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง ศึกษาคติความเชื่อในประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอุ่มเม้า ตำบลเมืองทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพิธีและประเพณีการกวนข้าวทิพย์ในพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาคติความเชื่อในประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ของชาวบ้านอุ่มเม้า จังหวัดร้อยเอ็ด และเพื่อวิเคราะห์อิทธิพลความเชื่อในประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ที่มีต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอุ่มเม้า จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลการศึกษาพบว่า ความเป็นมาของการกวนข้าวทิพย์เชื่อว่าเกิดจากนางสุชาดากวนข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งนางสุชาดานับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน จึงกล่าวได้ว่าเราได้รับอิทธิพลการปรุงข้าวทิพย์มาจากพราหมณ์ ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เชื่อกันว่าข้าวทิพย์เป็นอาหารพิเศษเหมือนกับอาหารทิพย์ของเทวดา เมื่อได้รับประทานแล้วจะทำให้สุขภาพแข็งแรงหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อได้ถวายข้าวทิพย์แก่พระสงฆ์จึงมีอานิสงส์มาก เพราะเป็นทานพิเศษ มีความตั้งใจมาก และตระเตรียมมาก

ประวัติความเป็นมาของประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ของบ้านอุ่มเม้ามีการสันนิษฐานไว้แตกต่างกัน ประเพณีที่ทำกันอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ การเตรียมงานคือ ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบอย่างน้อย ๑๐ วัน  ประชุมกันเตรียมจัดงาน แต่งตั้งคนทำงาน  ช่วยกันเตรียมสถานที่กวนข้าวทิพย์ แล้วช่วยกันเตรียมสถานที่คือจัดปะรำพิธีกวนข้าวทิพย์ และสถานที่เจริญพระพุทธมนต์ ส่วนประกอบข้าวทิพย์ ได้แก่ มะพร้าว ใบเตย น้ำนมข้าว เนย เผือก เป็นต้น สำหรับอุปกรณ์ในการกวน ได้แก่ เชื้อเพลิง เตา กระทะ ไม้กวน ตะแกรง เครื่องบด, ก่อนกวนมีการรับศีล ๘ ก่อน  ขณะพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา สาวพรหมจารี อายุ ๘-๑๒ ปี สวมชุดขาว ซึ่งสมมติว่าเป็นนางฟ้า  กวนไปเรื่อย ๆ หลังจากสาวพรหมจารีกวนแล้วชาวบ้านทั่วไปก็ช่วยกวนต่อจนข้าวและเครื่องปรุงทั้งหมดเป็นเนื้อเดียวกัน  ใช้เวลากวนประมาณ ๑๕-๑๖ ชั่วโมง

อิทธิพลความเชื่อในพิธีกวนข้าวทิพย์ต่อชาวบ้านอุ่มเม้าคือ ด้านเศรษฐกิจ พบว่า การทำบุญข้าวทิพย์ทำให้มีเงินหมุนเวียน เพราะมีการจับจ่ายใช้สอยกัน ผู้ทำบุญโดยมากไม่คิดว่าประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์เป็นการสิ้นเปลือง เพราะแต่ละครอบครัวไม่จำเป็นต้องซื้อสิ่งของให้ครบทุกอย่าง สามารถบริจาคได้ตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ของตน และทำปีละครั้ง ไม่ได้ทำบ่อย  ที่สำคัญเป็นการทำด้วยความสมัครใจ ต้องการได้บุญ และมีความสุขใจกับการได้ทำบุญ ด้านสังคม พบว่า ประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ทำให้มีความสามัคคีกัน  ชาวบ้านได้เสียสละเวลาทำงาน กำลังทรัพย์และกำลังกาย มาร่วมกันทำบุญประเพณี เป็นการได้สงเคราะห์ผู้อื่นในทางอ้อม ได้อนุรักษ์ประเพณีของชุมชน ได้ปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามแก่ลูกหลาน  ทำให้คนลดความเห็นแก่ตัวได้ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ได้สั่งสมคุณงามความดี ด้านประเพณี พบว่า ประเพณีบุญกวนข้าวทิพย์ทำให้เกิดความเสียสละและมีความสามัคคีกัน ควรประชาสัมพันธ์ให้รู้จักทั้งความเป็นมาและคุณค่าของประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ และควรได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ทำเป็นประจำทุกปี  นอกจากนี้ควรได้ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มาศึกษาเรียนรู้ประเพณีที่ดีงาม เพราะเป็นแหล่งเรียนที่ดี ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ด้านวัฒนธรรม พบว่า ประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ของชาวบ้านอุ่มเม้าไม่ให้มีการดื่มของมึนเมาภายในวัด เป็นการทำบุญจริง ๆ ด้านศาสนา พบว่า บุญกวนข้าวทิพย์ของบ้านอุ่มเม้าไม่มีการฆ่าสัตว์ ดังนั้น จึงเป็นการไม่ได้ทำบาปแต่อย่างใด  ประเพณีทำบุญกวนข้าวทิพย์ทำให้ได้รับความสุขใจ ทำให้คนรู้จักเห็นอกเห็นใจกัน และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน มีความอดทนและความสามัคคี  ด้านวิถีชีวิต พบว่า บุญกวนข้าวทิพย์สามารถเปลี่ยนความขัดแย้งกันให้เกิดความสามัคคีกันได้ ดังนั้น ประเพณีที่ดีงามจึงช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ทำให้เกิดความรักกันฉันพี่น้องและเป็นญาติธรรมกัน  ได้เสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้านคุณค่า พบว่า  บุญกวนข้าวทิพย์ทำให้คนรู้จักทำบุญและอานิสงส์การทำบุญ ทำให้ผู้ทำมีความสุขใจ มีความเสียสละและอดทน ผู้ใหญ่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน คนในชุมชนมีความรักสามัคคีกัน ได้ค้ำจุนพระพุทธศาสนา  ทำให้เกิดความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและสังคมอื่น ๆ  เมื่อคนดีก็ทำให้เป็นสังคมมีความสงบสุข

ดาวน์โหลด 

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕