หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ทองพูน สวัสดิรักษ์
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในสถานศึกษา อำเภอไพศาลี จังหวัด นครสวรรค์ (การบริหารการศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : ทองพูน สวัสดิรักษ์ ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี
  ผศ.ดร.วรกฤต เถื่อนช้าง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการครองตน ครองคน และครองงาน ในสถานศึกษา อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม ของผู้บริหาร และครูผู้สอน ด้านการครองตน ครองคน และครองงาน ในสถานศึกษา อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม ด้านการครองตน ครองคน ครองงานในสถานศึกษา อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ตามทัศนะของผู้บริหาร และครูผู้สอน 

ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงผสม (Mixed Methods Research) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ผู้วิจัยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยการ        เปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างสำเร็จรูปของ R.V.Krejcie และ D.W.Morgan ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๘๖ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยมีค่าความเชื่อมั่น .984 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม การทดสอบค่า F-test หรือการทดสอบการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) ซึ่งเป็นการทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป รวมทั้งการทดสอบการเป็นอิสระ (ײ- test of Independent) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Lest Significant Difference: LSD) ผลการวิจัยสรุปได้ดังต่อไปนี้
ผลการวิจัยพบว่า หลักพุทธธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา ประกอบด้วย      หลักฆราวาสธรรม ๔ ว่าด้วยการครองตน เป็นธรรมของผู้ครองเรือน ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ หลักพรหมวิหาร ๔ ด้วยการครองคน เป็นคุณธรรมสำหรับผู้ใหญ่ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หลักอิทธิบาท ๔ ว่าด้วยการครองงาน เป็นคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งผู้บริหาร ครูผู้สอน ควรศึกษาและยึดหลักทั้ง ๓ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานในสถานศึกษา
เมื่อเปรียบเทียบการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม ของผู้บริหาร และครูผู้สอน ด้านการครองตน ครองคน และครองงาน ในสถานศึกษา โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๙๓)    เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละด้านพบว่า ด้านการครองตน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ( = ๔.๐๓) ด้านการครองคน มีค่าเฉลี่ย ( = ๓.๙๐) ส่วนด้านการครองงาน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ( = ๓.๘๕) 
แนวทางการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในสถานศึกษาตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน พบว่า ด้านการครองตน ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ต้องทำงานด้วยความความซื่อสัตย์ ซื่อตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ จริงใจในการทำงาน รู้จักควบคุมอารมณ์ มีความอดทน อดกลั้น แบ่งปันสิ่งของ มีน้ำใจต่อกัน ด้านการครองคน ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ต้องมีความรักใคร่ เสียสละ มีความจริงใจ ห่วงใยเพื่อนร่วมงาน เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักยกย่องชมเชยผู้ร่วมงานที่ทำความดีตามความเหมาะสม มีความยุติธรรมวางตัวเป็นกลาง ด้านการครองงาน ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ต้องมีความพอใจในบทบาทและหน้าที่เกี่ยวข้อง มีความสุขในการทำงาน รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ ขยันคิด ขยันทำและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับสถานศึกษา เมื่อพบปัญหาที่เกิดจากการทำงาน พยายามหาแนวทางแก้ไข อุทิศเวลาให้กับดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆของสถานศึกษา คิดและวางแผนการทำงานอย่างต่อเนื่อง บุคลากรทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการประเมินผลการดำเนินงานของสถานศึกษาอันจะนำไปสู่การพัฒนางานอย่างมีประสิทธิภาพ

ดาวน์โหลด


 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕