หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ไพโรจน์ ปัญจวรานนท์
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๙ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบการอธิษฐานจิตในทัศนะรอนดาเบิร์นกับพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : ไพโรจน์ ปัญจวรานนท์ ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๘/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริรัตนานุวัตร
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการอธิษฐานจิตในทัศนะรอนดา เบิร์นกับพระพุทธศาสนา ในเรื่องแนวคิด หลักการ วิธีการ เป้าหมาย ผลสำเร็จ ว่าทั้งสองแนวทางมีความเหมือนและความต่างกันอย่างไร

จากการศึกษาพบว่า การอธิษฐานจิตตามแนวทางของรอนดา เบิร์นในหนังสือเดอะซีเคร็ตนั้น มาจากหนังสือเรื่อง The Science of Getting Rich เป็นหนังสือสอนให้รวยสมัยก่อน ผสมผสานกับแนวคิดของหนังสือสอนทางลัดสู่ความสำเร็จ (How to) ยอดนิยมในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา เช่น Think And Grow Rich และอีกหลายเล่ม รวมกับความเชื่อในกฎแรงดึงดูดที่ถูกระบุว่าเป็นกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ บวกกับแนวทางศรัทธาตามคริสต์ศาสนา

เป้าหมายตามแนวทางของรอนดา เบิร์นนั้น มุ่งที่ความสำเร็จตามทัศคติโลกสมัยใหม่แห่งทุนนิยม เช่น เรื่องเงินทอง เรื่องของน้ำหนัก เรื่องของมนุษยสัมพันธ์ ความสะดวกในการดำรงชีวิต ซึ่งถ้าเชื่อกฎแห่งแรงดึงดูด ก็จะสำเร็จผลโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆทั้งในเรื่องทรัพยากรที่จำกัด ความยากที่จะบรรลุผล หรือเวลาแห่งการบรรลุผล

การอธิษฐานจิตตามแนวทางของพระพุทธศาสนานั้น ใช้การอธิษฐานเพื่อให้ชีวิตมีความสุขในชาติปัจจุบัน และยกระดับตนเองไปสู่ธรรมะหรือบุญที่สูงยิ่งขึ้น โดยไม่ยึดติดกับผลของบุญเช่นความร่ำรวย หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

หลักการอธิษฐานจิตตามแนวทางพระพุทธศาสนานั้น อธิบายด้วยกฎแห่งกรรมที่ทำงานตามธรรมชาติ แล้วเพิ่มการบริหารจัดการ  โดยนำการอธิษฐานมาช่วยกำหนดทิศทางของชีวิตหรือเป้าหมายของตัวเอง โดยใช้พลังจากการทำบุญ พลังจากความจริงหรือความดี พลังแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาช่วยสร้างพลังให้มุ่งสู่จุดมุ่งหมายได้สำเร็จ

วิธีการอธิษฐานจิตตามแนวทางพระพุทธศาสนานั้น จะใช้พลังจากการทำบุญ ก็คือทำบุญแล้วอ้างบุญกุศล แล้วระบุถึงเป้าหมายที่ขอ ส่วนการใช้พลังจากความจริงหรือความดี นั้นให้อ้างสิ่งที่มีอยู่ในตัวมาอธิษฐานขอโดยมากมักเป็นเรื่องภัยที่ปรากฏเฉพาะหน้าและการอ้างพลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือพระรัตนตรัย มาอธิษฐานให้ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวัง

ส่วนเป้าหมายนั้น การอธิษฐานจิตตามแนวทางพระพุทธศาสนานั้น มีทั้งในระดับเบื้องต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยสอดคล้องกับ อรรถ ๓ อย่าง ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเวลาที่จะบรรลุผลสำเร็จ จะแยกเป็น ๔ ช่วงเวลา คือ บรรลุทันที บรรลุในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติสุดท้าย

ส่วนผลการเปรียบเทียบระหว่างแนวคิดของรอนดา เบิร์นกับพระพุทธศาสนานั้น ในเบื้องต้น ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่ความสำเร็จในชีวิต หรือในชาตินี้เหมือนกัน ต่างแต่ว่าพระพุทธศาสนามีมุมมองการอธิษฐานมุ่งไปถึงเรื่องบุญและการบรรลุถึงมรรคผลนิพพานด้วย 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕