หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วรพิมพ์สุข ผ่องสมัย
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๒ ครั้ง
ศึกษากระบวนการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรม
ชื่อผู้วิจัย : วรพิมพ์สุข ผ่องสมัย ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวรมุนี (พล อาภากโร)
  บรรจบ บรรณรุจิ
  อำนาจ บัวศิริ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

                วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ (๑). เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางและรูปแบบการอบรมพัฒนาจิตใจของยุวพุทธิกสมาคมฯ (๒). เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรม และ (๓). เพื่อประเมินผลกระบวนการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงทัณฑสถานหญิงตามหลักพุทธธรรม เกี่ยวกับสมมติฐานของการวิจัยคือ ๑) ผู้ต้องขังหญิงที่เข้ารับการอบรมพัฒนาจิตใจตามหลักพุทธธรรมมีความคิดเห็นในเรื่องรูปแบบ, ประโยชน์, ความเหมาะสมของเนื้อหา, ความเหมาะสมของระยะเวลาและรูปแบบในอนาคตส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจก่อนและหลังแตกต่างกัน และ ๒) ประสบการณ์ในการศึกษาธรรมศึกษาของผู้ต้องขังที่เข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจที่แตกต่างกันไปด้วย          

                วิทยานิพนธ์เรื่องนี้เป็นการศึกษาผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)และเชิงปริมาณ (Quantitative Research) สืบเนื่องมาจากผู้ต้องขังหญิงประเภทนักโทษเด็ดขาดในทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ได้มีการจัดอบรมด้านการพัฒนาการศึกษาในรูปแบบต่างๆ และการฝึกวิชาชีพ รวมถึงการฝึกอบรมทางศีลธรรมเป็นประจำในวาระพิเศษ เช่น วันสำคัญทางศาสนา และวันสำคัญของชาติ มีผลตามสถิติปรากฎตามที่อ้างถึงว่ายังมีผู้กระทำผิดซ้ำมากขึ้นทุกปี ผู้วิจัยจึงได้นำหลักการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจที่ทัณฑสถานหญิงกลางและรูปแบบการฝึกอบรมพัฒนาจิตของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์มาบูรณาการเป็นรูปแบบการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรม และจัดการฝึกอบรม เป็นเวลา ๕ สัปดาห์  โดย ผู้วิจัยได้กำหนดกระบวนการไว้ ๒ ขั้นตอน คือ           (๑). การบูรณาการหลักธรรม ๕ ประการ คือ ก. ไตรสิกขา ๓, ข. บุญกิริยา ๑๐, ค. สังคหวัตถุ ๔,     ง. เบญจศีล (ศีล ๕ ข้อ), และ จ. ทิศ ๖ (๒). เสริมวิธีการอบรม ๓ ประการดังนี้ ก.) เสริมสร้างให้ความรู้ในเรื่องทั้งทางโลกควบคู่ไปกับทางธรรมตามหลักโลกธรรม ๘  ข.) ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องจริยธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตา เห็นอกเห็นใจกัน ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาโดยข้อปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘  ค.) เสริมสร้างทางจิตตภาวนาตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔

                เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่ ก.) แบบสอบถามผู้ต้องขังหญิงที่เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ในโครงการการศึกษากระบวนการพัฒนาจิตใจของผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรม ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลก่อนและหลังการฝึกอบรมฯ ข.) แบบสัมภาษณ์เจาะลึกสำหรับอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง, พระวิปัสสนาจารย์และวิทยากรที่เข้าร่วมโครงการการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลาง ค.) แบบสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ ผู้ควบคุมการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลาง ง.) แบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ (EQ-Test) ของกรมสุขภาพจิต

                กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ต้องขังหญิงคดีเด็ดขาด จำนวน ๑๐๐ คนโดยใช้แบบเจาะจงผลการวิจัย พบว่า

                 ๑. การศึกษารูปแบบการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลาง และรูปแบบการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจของยุวพุทธฯ  หลังจากผู้วิจัยได้ศึกษาการฝึกอบรมแล้ว ได้นำทั้งสองรูปแบบมาบูรณาการเป็นรูปแบบการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรม รูปแบบนี้มีความเหมาะสมที่ใช้สำหรับการจัดการฝึกอบรมฯ ให้กับผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลาง

                ๒. การศึกษากระบวนการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรม ส่งผลให้ผู้วิจัยสามารถกำหนดตารางแสดงหลักสูตรการฝึกอบรมปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานแบบบูรณาการเข้มข้นแนวสติปัฎฐาน ๔ ระหว่างวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ –  วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓  ใช้สำหรับการฝึกอบรมผู้ต้องขังหญิงได้ผลเป็นที่พอใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

            ๓. การประเมินผลกระบวนการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรม ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการประเมินผลกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์, สังเคราะห์ และสรุปผลการนำกระบวนการพัฒนาจิตใจไปใช้กับผู้ต้องขังหญิงฯ ได้ว่าทั้งรูปแบบและกระบวนการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงฯ นั้นมีประสิทธิผล   

         ๔. ผู้ต้องขังหญิงที่เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจตามหลักพุทธธรรมมีความคิดเห็นในเรื่องรูปแบบ, ผลประโยชน์, ความเหมาะสมของเนื้อหา, ความเหมาะสมของระยะเวลาและรูปแบบในอนาคตส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจก่อนและหลังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ .๐๑

                ๕. ประสบการณ์ในการศึกษาธรรมศึกษาของผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางที่เข้ารับการฝึกอบรมฯ ส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจก่อนและหลังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ.๐๑

                จึงสรุปได้ว่า กระบวนการการพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางตามหลักพุทธธรรมโดยรูปแบบการพัฒนาจิตใจแบบบูรณาการตามหลักพุทธธรรมนี้ตามความคิดเห็นของผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางอยู่ในระดับมาก

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕