หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จารุวรรณ ภักดีดำรงฤทธิ์
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๘ ครั้ง
การท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาตามตำนานอุรังคธาตุ
ชื่อผู้วิจัย : จารุวรรณ ภักดีดำรงฤทธิ์ ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  () ศึกษาประวัติความเป็นมาและ   อัตลักษณ์พระธาตุตามตำนานอุรังคธาตุ เฉพาะ    พระธาตุ  ได้แก่  พระธาตุพนม  พระธาตุเชิงชุม  และพระธาตุอิงฮัง () เพื่อศึกษากระบวนการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาตามตำนานอุรังคธาตุของวัดที่ตั้งพระธาตุทั้ง ๓ วัด (๓) เพื่อเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาตามตำนาน          อุรังคธาตุ ดำเนินการวิจัยจากเอกสารโดยการรวบรวมแนวคิดจากพระไตรปิฎก ตำนานอุรังคธาตุ  อรรถกถา  หนังสือประวัติวัดพระธาตุพนม ประวัติ พระธาตุเชิงชุม ประวัติวัดพระธาตุอิงฮัง เอกสารทางวิชาการต่างๆ และจากการสำรวจพื้นที่วิจัย การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง

    ผลการวิจัยพบว่า  ตำนานอุรังคธาตุ เป็นตำนานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาและความสัมพันธ์ของรัฐโบราณในอาณาบริเวณลุ่มน้ำโขง โดยมีศูนย์กลางคือพระธาตุพนมซึ่งเป็นศูนย์รวมคติความเชื่อที่เนื่องมาจากพระพุทธศาสนาของกลุ่มชนต่างๆ กล่าวถึงเส้นทางการเสด็จของพระพุทธเจ้าที่อาณาจักรศรีโคตรบูร ร่องรอยของศาสนสถานต่างๆ และการสร้างพระธาตุเจดีย์แถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงพระธาตุพนม พระธาตุเชิงชุม และพระธาตุอิงฮังที่มีต้นกำเนิดและพัฒนาการที่เชื่อมโยงกัน อัตลักษณ์ของพระธาตุทั้งสามที่เด่นชัดคือ พระธาตุพนมเป็นที่ประดิษฐานของพระอุรังคธาตุคือพระธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า พระธาตุเชิงชุมเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือพระกกุสันธะ พระโคนาคมนะ พระกัสสปะและพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันได้ประทับรอยพระบาทไว้และอนาคตพระพุทธเจ้าคือพระศรีอาริยเมตไตรยก็จะได้ประทับรอยพระบาทไว้ในที่เดียวกันส่วนพระธาตุอิงฮังเป็นพุทธสถานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเอนพิงต้นรัง

    ในด้านกระบวนการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาตามตำนานอุรังคธาตุ พบว่าสภาพพื้นที่ของวัดที่ตั้งพระธาตุ พุทธศิลปและพุทธสถานต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาตามตำนานอุรังคธาตุ ทั้งนี้ จากการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างวัดพระธาตุทั้ง    วัด  เริ่มจากจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตามลำดับ การประเมินการจัดการด้านพุทธศิลป์ การรองรับด้านสังคมและวัฒนธรรม ความพร้อมด้านการให้คุณค่าและกระบวนการพัฒนาทางจิตใจและปัญญาการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสังคม ความคิดเห็นและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวการมีส่วนร่วมของชุมชนและการส่งเสริมการท่องเที่ยว ลักษณะของการท่องเที่ยวเป็นการผสมผสานองค์ความรู้เชิงวรรณคดี คติชนวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ พระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชนในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงที่สืบเนื่องจากศรัทธาที่มีต่อพระธาตุ

การท่องเที่ยวที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา สามารถจำแนกเป็นสองแนวทางคือ การท่องเที่ยวแบบไม่รู้แจ้งแทงตลอดคือการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด และการท่องเที่ยวแบบไฝ่รู้ไฝ่ศึกษา ในงานวิจัยนี้ได้จัดรูปแบบของการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาตามตำนาน

อุรังคธาตุเป็น ๕ รูปแบบ คือ การท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์พุทธศิลป์, การท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างศรัทธาปัญญา บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ,การท่องเที่ยวเชิงวิชาการเพื่อการวิจัยศึกษาพุทธประวัติ ตำนาน, การท่องเที่ยวเพื่อสักการะพระธาตุตามประเพณี, และการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพทางครอบครัว

การท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาตามตำนานอุรังคธาตุเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ได้เข้าใจ เข้าถึง มีศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา สืบสานและสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง โดยสัมผัสจากสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ และวิถีแห่งวัฒนธรรมซึ่งมีสื่อสัญลักษณ์ที่สำคัญคือพระธาตุพนม พระธาตุเชิงชุมและพระธาตุอิงฮัง รวมถึงพุทธศิลป พุทธสถาน โบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตของประชากรในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงที่สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕