หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุทร ถาวรธมฺโม (ทาทอง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๘๕ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบปัญหาจริยธรรมเรื่องการทำแท้งทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาทกับกฎหมายการทำแท้ง (๒๕๓๗)
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุทร ถาวรธมฺโม (ทาทอง) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  ผศ. ธีรยุทธ สุนทรา
  นายประสิทธฺ์ จันรัตนา
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ เมษายน ๒๕๓๙
 
บทคัดย่อ

          วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาในเชิงวิเคราะห์และเปรียบเทียบปัญหาจริยธรรมเรื่องการทำแท้ง : ทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาทกับกฎหมายการทำแท้ง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบทรรศนะทั้งสองที่มีต่อเรื่องการทำแท้ง ที่ว่าด้วยการเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ลำดับการวิวัฒนาการของชีวิตในครรภ์ และความผิดฐานทำให้แท้งลูก ทั้งในส่วนที่มีทรรศนะคล้ายคลึงกัน และแตกต่างกัน

          ในส่วนที่มีความคล้ายคลึงกันก็คือในพุทธปรัชญามีทรรศนะว่า การทำลายชีวิตสัตว์เป็นบาป ยิ่งทำลายทารกในครรภ์ก็ยิ่งเป็นบาปหนักขึ้น โดยพื้นฐานของสังคมทั่วไปแล้ว การบัญญัติกฎหมายจะยึดถือหลักศีลธรรมและคุณธรรมทางศาสนาของแต่ละสังคม หลักกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาและศีลธรรมในสังคม หลักจริยธรรมทั่วไปนั้นถือว่าชีวิตแต่ละชีวิตมีความสำคัญและมีคุณค่าในตัวเอง แต่ละชีวิตมีความรักตัวเอง รักสุข เกลียดทุกข์ กลัวภัย กลัวความตายด้วยกันทั้งนั้น ทั้งมนุษย์และสัตว์แรกเกิด ก็มีสิทธิ์ในชีวิตของตนเอง ในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตั้งแต่มาตรา ๓๐๑,๓๐๒ และ ๓๐๓ ได้บัญญัติห้ามมิให้ทำลายชีวิตที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมศีล ๕ ในข้อที่ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด ให้มีความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์และมนุษย์ชาติทั้งมวล ซึ่งล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมสุขร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ถ้าใครล่วงละเมิดศีลดังกล่าวมา ในทรรศนะทางพระพุทธศาสนาถือว่า เป็นบาปอย่างยิ่ง

          ในส่วนที่มีความแตกต่างกัน คือ การเริ่มต้นของชีวิตนั้นในทรรศนะทางพระพุทธศาสนาถือว่า ปรากฏตั้งแต่เริ่มมีการปฏิสนธิแล้ว เพราะเชื่อว่ามีวิญญาณ หรือมีจิตดวงแรกเข้ามาเกิดพร้อมกันกับกลรูป ก็ถือว่ามนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว ถ้าใครทำลายหรือแม้แต่เพียงทำครรภ์ให้ตกไป ก็ถือว่ามีความผิดเป็นบาป ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า การเริ่มสภาพบุคคล เริ่มตั้งแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก จึงจะถือว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์ แต่ในส่วนของกฎหมายทำแท้งนั้นถือว่า ลูกหรือทารกในครรภ์นั้น เริ่มนับตั้งแต่เวลาที่เชื้ออสุจิผสมกับไข่และเริ่มฝังตัวลงในเยื่อบุผนังมดลูกแล้ว จึงจะถือว่าเป็นทารกในครรภ์ และในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๕ ก็อนุญาตให้มีการทำแท้งได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด ในสองกรณีคือ มีความจำเป็นต้องทำเพื่อสุขภาพของหญิงนั้น หรือว่าหญิงนั้นตั้งครรภ์เนื่องจากผลของการกระทำผิดทางอาญาฐานข่มขืน กระทำชำเรา หรือฐานพาไป หรือถูกล่อลวงไปเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น และผู้ที่ทำแท้งได้นั้น ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศพยายามที่จะใช้กฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมหลักศีลธรรมทางศาสนาให้คงอยู่ในสังคม และมุ่งเพิ่มพูนระบบคุณธรรมให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันและแก้ปัญหาสังคมที่ได้ผลในส่วนของการป้องกันการทำแท้งก็มีสัมฤทธิ์ผลดียิ่งขึ้นทั้งนี้ก็เพื่อความสงบร่มเย็นของประชาชนในชาติของตนและมวลมนุษย์ทั่วไป
 

Download : 253905.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕