หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กันยา อยู่รอด
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
การประยุกต์ใช้หลักอานาปานสติร่วมกับแนวเวชปฏิบัติต่อคุณภาพ ชีวิตผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโรงพยาบาลร้องกวาง
ชื่อผู้วิจัย : กันยา อยู่รอด ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสุนทรธรรมนิทัศน์
  อรอนงค์ วูวงศ์
  เอกชัย คำลือ
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2559
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) ศึกษาการประยุกต์ใช้หลักอานาปานสติในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ๓) เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังโรงพยาบาลร้องกวาง ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม

 

          การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mix Methods Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงเอกสาร(Documentary Research) ซึ่งศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักอานาปานสติ            ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และการวิจัยกึ่งทดลอง( Quasi experimental Research) โดยมี             กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มารับการรักษาที่คลินิกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ จำนวน ๔๐ คน ซึ่งคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม โดยวิธีการจับคู่กลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด คืออายุ เพศ ระดับความรุนแรงของโรคระดับเดียวกัน ซึ่งกลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามแนว เวชปฏิบัติผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมีการประยุกต์ใช้หลักอานาปานสติตามแบบแผนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นเวลา ๘ สัปดาห์ กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามแนวเวชปฏิบัติผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างเดียว

ผลการวิจัยพบว่า

๑. จากการศึกษาหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า หลักอานาปานสติเป็นการฝึกให้มีสติ ให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่ในกิจการงานที่กระทำทุกขณะ โดยการพิจารณาลมหายใจเข้าออก ไม่ยึดเอาอารมณ์ที่เป็นอดีต และไม่เพ้อหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึงในอนาคต ซึ่งในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการเจริญอานาปานสติและอานิสงค์การเจริญอานาปานสติไว้  มีวิธีปฏิบัติ ๑๖ ขั้นตอน แบ่งเป็น ๔ หมวด เมื่อเจริญให้มากแล้ว สติปัฎฐาน ๔ ย่อมบริบูรณ์ สติปัฎฐาน ๔ เจริญมากแล้วย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ เจริญให้มากแล้วย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์    อานาปานสติเป็นวิถีการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อบรรลุหลุดพ้นจากราคะด้วยเจโตวิมุตติ และจากอวิชชาด้วยปัญญาวิมุตติ อันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือการเข้าสู่นิพพาน

           ๒.  จากการศึกษาการประยุกต์ใช้หลักอานาปานสติในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบว่า ในกลุ่มทดลองมีการปฏิบัติตามหลักอานาปานสติ๑) ด้านการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสติกำหนดรู้ด้านร่างกายมีค่าเฉลี่ยร้อยละ ๔๖.๘๕ จัดอยู่ในระดับปฏิบัติเป็นบางครั้ง  ๒) การปฏิบัติเพื่อให้มีสติในการกำหนดรู้ด้านความรู้สึกมีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ ๓๗.๘๕ จัดอยู่ในระดับปฏิบัติบ่อยครั้ง  ๓) การปฏิบัติเพื่อให้มีสติในการกำหนดรู้ด้านความคิด คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๒๕ จัดอยู่ในระดับปฏิบัติบ่อยครั้ง ๔) การปฏิบัติเพื่อให้มีสติในการกำหนดรู้ด้านสภาวธรรม มีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ ๗๙.๕๐ จัดอยู่ในการกำหนดรู้ระดับบ่อยครั้ง

           ๓. ผลการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคุณคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๑

 ๑) ผลการเปรียบเทียบการทดสอบสมรรถนะด้านร่างกายโดยการเดินบนทางราบเป็นเวลา ๖ นาทีกลุ่มทดลองก่อนและหลังการทดลอง พบว่า มีความแตกต่างกันมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๑ส่วนกลุ่มควบคุมก่อนและหลังการทดลองสมรรถนะร่างกายไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

๒) ผลการเปรียบเทียบสมรรถนะทางร่างกายระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังการทดลอง พบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕