หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระเฉลิมชัย จิตฺตสํวโร (เอมยงค์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในเขมกสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระเฉลิมชัย จิตฺตสํวโร (เอมยงค์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาชิต ฐานชิโต
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ มกราคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ปรากฏในเขมกสูตร
๒) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในเขมกสูตร โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             เขมกสูตร มีปรากฏอยู่ในขันธวารวรรค พระสุตตันตปิฎก เนื้อความของเขมกสูตร
เป็นเรื่องราวของพระเขมกะ สมัยนั้นพระเขมกะอาพาธเป็นไข้หนัก พักอยู่ที่พทริการาม ในเวลาต่อมาพระเถระประมาณ ๖๐ รูป ต้องการฟังธรรม จึงได้ส่งพระทาสกะไปถามปัญหาเกี่ยวกับอาการอาพาธ และถามเกี่ยวกับหลักขันธ์ ๕ กับพระเขมกะอยู่หลายครั้ง พระเขมกะจึงเดินทางไปอธิบายธรรมแก่พระภิกษุทั้ง ๖๐ รูป ด้วยตนเอง ในขณะที่พระเขมกะได้กล่าวเวยยากรณภาษิตอยู่ จิตของพระเถระทั้ง ๖๐ รูป และพระเขมกะ ได้หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น หลักธรรมสำคัญที่ปรากฏในพระสูตรนี้ได้แก่ ๑) ขันธ์ ๕ คือ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ๒) อุปาทาน
ขันธ์ ๕ คือ ขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทาน ๓) สังโยชน์ คือ ธรรมชาติที่ผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏทุกข์

             การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในเขมกสูตรพบว่า พระเขมกะได้อธิบายธรรมะเพื่อเร้าให้พระภิกษุปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ในส่วนของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาตาปี
สัมปชาโน สติมา ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการปฏิบัติที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาเห็นสภาวธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง โดยพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ จนเกิดปัญญาญาณเห็นว่ารูปนามนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้า ผู้ปฏิบัติสามารถละสังโยชน์ และอนุสัยทุกอย่างได้ตามกำลังของมรรค สามารถบรรลุอริยมรรคผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้ในที่สุด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕