หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิจิตรธรรมวิภัช (บุญเลิศ ปญฺญาวุโธ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
การพัฒนาการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิจิตรธรรมวิภัช (บุญเลิศ ปญฺญาวุโธ) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๕/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ประเสริฐ ธิลาว
  เกียรติศักดิ์ สุขเหลือง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑.เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปและปัญหาของการปฏิบัติธรรมของประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๒.เพื่อศึกษาองค์ประกอบของสำนักปฏิบัติธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และ ๓.เพื่อเสนอการพัฒนาการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธี ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๘ รูปหรือคน และการสนทนากลุ่มเฉพาะกับผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๑๐ รูปหรือคน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา และการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่าง คือ พระสงฆ์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน ๓๔๖ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๗๙ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัย พบว่า

๑. สภาพทั่วไปของการปฏิบัติธรรมของประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า วัดมีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันพระพุทธศาสนามีทั้งส่วนที่เจริญก้าวหน้าขึ้นและเสื่อมโทรมลงไป พระสงฆ์จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนถ่ายทอดธรรมะและการปฏิบัติธรรม  การปฏิบัติตนให้เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา และเป็นผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบจะทำให้ประชาชนยอมรับนับถือและยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดในทุกอำเภอๆ ละ ๓ หรือ ๔ แห่ง จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา แต่ก็ยังมีประชาชนเข้าปฏิบัติธรรมในจำนวนที่น้อย รวมถึงพระวิปัสสนาจารย์ก็ยังไม่เพียงพอ สำนักปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งไม่มีการประสานงานกันเป็นเครือข่าย ขาดความร่วมมือในบริหารจัดการ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันได้

๒. องค์ประกอบของสำนักปฏิบัติธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประชาชนมีความสนใจเข้าปฏิบัติธรรมขึ้นอยู่กับ ๓ ส่วน ได้แก่ ด้านสถานที่ วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดต้องมีความพร้อมสำหรับการให้บริการแก่ประชาชน มีความเหมาะสม สะอาด สงบเงียบและสะดวกสบาย ด้านบุคลากร เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมหรือพระวิปัสสนาจารย์ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นแบบอย่างของความดี มีจริยธรรม ที่ทำให้ประชาชนเห็นแล้วเกิดความศรัทธา และปฏิบัติตามได้ ด้านการบริหารจัดการ มีการอบรมการฝึกสอนปฏิบัติธรรมที่มีความหลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้เลือกปฏิบัติตามความต้องการ

๓.การพัฒนาการส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักปฏิบัติธรรมต้องมีการปรับปรุงสถานที่ให้มีความพร้อมเพื่อการใช้งานตลอดเวลา คณะสงฆ์ควรกำหนดให้มีสร้างพระวิปัสสนาจารย์เพิ่มมากขึ้น และทำการพัฒนาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีอยู่แล้วให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น ให้ได้รับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ทันสมัย จัดให้มีโครงการปฏิบัติธรรมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งโครงการที่เป็นแบบระยะสั้น แบบระยะยาวเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนหลากหลายกลุ่ม บางโอกาสต้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ ด้วยการให้ออกไปปฏิบัติธรรมตามหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานที่หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน สถานศึกษา เป็นต้น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕