หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สิทธิพร อารมณ์สุขโข
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๓ ครั้ง
การบูรณาการหลักพระพุทธศาสนากับศาสตร์บริหารจัดการชีวิตในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : สิทธิพร อารมณ์สุขโข ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ)
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการชีวิตในสังคมไทย (2) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาและศาสตร์การบริหาร และ (3) เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาและศาสตร์การบริหารในสังคมไทย การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยศึกษาทั้งเอกสาร (Documentary Research) และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ผลการวิจัยพบว่า

สภาพปัญหาการบริหารจัดการชีวิตในสังคมไทย มีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารโลกธรรม ๘ ประการที่ไม่เหมาะสม คือ การได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ การถูกนินทา การได้รับคำสรรเสริญ การได้สุข การประสบทุกข์ ทำชีวิตให้หลงไปตาม

การบริหารจัดการชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาและศาสตร์การบริหาร การบริหารจัดการชีวิตท่ามกลางโลกธรรม 8 ประการนี้ ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาว่าโลกธรรมมีความแปรผันเป็นธรรมดา เป็นของไม่เที่ยง นำมาซึ่งความทุกข์ ต้องฝึกการสำรวมอินทรีย์ และมีปัญญาบริหารจัดการชีวิตตามศาสตร์สมัยใหม่คือ POSDC ได้แก่ (1) Planning การวางแผนชีวิต (2) Organizing การจัดการชีวิต (3) Staffing การจัดชีวิต (4) Directing and Coordinating การสั่งการและการประสานงาน (5) Controlling การควบคุมชีวิต และให้สอดคล้องกับความต้องการของชีวิต 5 ระดับของมาสโลว์ (Maslow) ได้แก่ (1) ความต้องการทางร่างกาย (2) ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (3) ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (4) ความต้องการการยกย่อง (5) ความต้องการความสำเร็จในชีวิต

การบูรณาการการบริหารจัดการชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาและศาสตร์การบริหารในสังคมไทย แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ (1) ด้านอิฏฐารมณ์ (2) ด้านอนิฏฐารมณ์ โดยด้านอิฏฐารมณ์มีการบริหารแบบบันได 9 ขั้น คือ (1) มีสติปัญญาวางแผนอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่างไม่มัวเมา คือ มีสติปัญญาวางแผนในการที่จะให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มาเป็นของตนเอง วางแผนในการอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ รวมถึงมีสติปัญญาวางแผนอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่างปลอดภัย (2) รู้เท่าทันความแปรผันของลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คือ รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ (3) ไม่ยินดีหลงระเริงกับสิ่งเหล่านี้ (4) พิจารณาว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นของไม่เที่ยง (5) มีสติสำรวมอินทรีย์ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดีเกินควร (6) ไม่ประมาท คือ ไม่ประมาทกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข (7) บริหารความสุขให้สอดคล้องกับความต้องการของชีวิต 5 ด้าน ประสานและควบคุมให้เหมาะสม (8) วางแผนใช้ประโยชน์จากสุข และกลยุทธ์การใช้ชีวิตอย่างลงตัว (9) แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ ให้เหมาะสมกับชีวิตของตน ส่วนด้านอนิฏฐารมณ์มีการบริหารแบบบันได 9 ขั้น คือ (1) มีสติปัญญาเรียนรู้เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อย่าไขว้เขว (2) มีปัญญารู้เท่าทันว่าการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องประสบ (3) มีสติสำรวมอินทรีย์ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เสียใจมากนัก (4) การยอมรับความจริง คือ เมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น (5) ไม่เศร้าโศกเมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ (6) เมื่อถูกนินทาพึงใช้ปัญญาสืบหาความจริง หากไม่เป็นตามที่เขานินทาก็ไม่ขุ่นเคือง หากเป็นตามนั้นก็พึงปรับปรุงให้ดีขึ้น (7) เมื่อประสบทุกข์ต้องกำหนดรู้และคิดว่าไม่มีอะไรอยู่ถาวร (8) วางแผนกำหนดรู้ปัญหาและสาเหตุทุกข์ แล้วแก้ไขที่สาเหตุ (9) ปรับกลยุทธ์การใช้ชีวิตให้สอดคล้องและพยายามจัดการกับการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ที่เกิดขึ้นให้ได้ผลจริง

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕