หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กรณัฐสุมิน เตชะเบญจรัตน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๔ ครั้ง
พุทธจริยธรรมในการประกอบการธุรกิจประกันชีวิต
ชื่อผู้วิจัย : กรณัฐสุมิน เตชะเบญจรัตน์ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริปริยัตยานุศาสก์
  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง พุทธจริยธรรมในการประกอบการธุรกิจประกันชีวิต  มีวัตถุประสงค์    ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาบริบทและสภาพปัญหาทางจริยธรรมของธุรกิจประกันชีวิต ๒) เพื่อศึกษาพุทธจริยธรรมที่สัมพันธ์กับธุรกิจประกันชีวิต และ ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการประยุกต์พุทธจริยธรรมในการประกอบธุรกิจประกันชีวิต การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ  ได้แก่ การวิจัยเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก  กับกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน ๑๒ ท่าน และการจัดสนทนากลุ่ม จำนวน ๗ ท่าน

ผลการศึกษาบริบทและสภาพปัญหาทางจริยธรรมของธุรกิจประกันชีวิต พบว่า การประกันชีวิตได้เปิดดำเนินธุรกิจในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา สภาพปัญหาการทำประกันชีวิตในประเทศไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันชีวิต เพราะเหตุว่าธุรกิจประกันชีวิตยังขาดการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตให้กับประชาชนและสังคม การสร้างภาพพจน์ที่ดี และความศรัทธาที่มีต่อธุรกิจการประกันชีวิต ในส่วนของตัวแทนประกันชีวิต ถึงแม้จะมีจรรยาบรรณวิชาชีพ ๑๐ ประการที่ต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความศรัทธาในวิชาชีพ

ผลการศึกษาหลักพุทธจริยธรรมที่สัมพันธ์กับธุรกิจประกันชีวิต พบว่า การประกันชีวิตนอกจากจะมีหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพแล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุสำคัญให้ธุรกิจประกันชีวิตได้รับความเชื่อถือจากประชาชนและสังคม คือ การมีหลักจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะหลักพุทธธรรมนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันชีวิตได้เช่นเดียวกัน ได้แก่ หลักปาปณิกธรรม ๓ นอกจากนั้นแล้ว ธุรกิจประกันชีวิตก็ต้องประกอบด้วยหลักเบญจศีล เบญจธรรม คือ ข้อ ๒ เว้นจากอทินนาทาน และข้อ ๔ เว้นจากมุสาวาท, ส่วนตัวแทนประกันชีวิต    ในฐานะเป็นคนสำคัญในการสร้างภาพพจน์ที่ดีในธุรกิจประกันชีวิต จะต้องประกอบด้วย จริยธรรมต่อตนเอง โดยใช้หลักปาปณิกธรรม ๓, จริยธรรมต่อบริษัทประกันชีวิตและจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมอาชีพ โดยใช้หลักสุจริต ๓, จริยธรรมต่อผู้เอาประกันชีวิต โดยใช้หลักฆราวาสธรรม ๔ หลักสัจจะและกายสุจริต

ผลการศึกษาแนวทางการประยุกต์พุทธจริยธรรมในการประกอบธุรกิจประกันชีวิต พบว่า ควรจัดให้มีการอบรมบรรยายธรรมแก่ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทประกันชีวิต ลูกค้า และบุคคลทั่วไป ควรมีการสนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าวัดปฏิบัติธรรม ควรมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักพุทธจริยธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต ควรมีการจัดทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา และการส่งเสริมบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม  เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร แก่กลุ่มคนต่างๆ ในสังคม

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕