หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายสานุ มหัทธนาดุลย์
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์สังโยชน์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นายสานุ มหัทธนาดุลย์ ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ดร.
  ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาสังโยชน์และหลักธรรมที่สัมพันธ์กับสังโยชน์ ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สังโยชน์ตามทัศนะของพระเถระในสังคมไทย

ผลการวิจัยพบว่า สังโยชน์มีความหมายตามคัมภีร์พระไตรปิฎกว่าเป็นเครื่องผูกพันน้อยใหญ่ มีทั้งประเภทที่เป็นรูปธรรมได้แก่ คิหิสังโยชน์ หมายถึงสังโยชน์ของคฤหัสถ์ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา ข้าทาส บริวาร และกามคุณ ๕ ประการ  ส่วนสังโยชน์ประเภทที่เป็นนามธรรม ได้แก่สังโยชน์ ๑๐ ประการ โดยแบ่ง ตามพระสูตร ๑๐ คือ สักกายทิฏฐิสังโยชน์  วิจิกิจฉาสังโยชน์  สีลัพพตปรามาสสังโยชน์  กามฉันทะสังโยชน์ พยาบาทสังโยชน์                      รูปราคะสังโยชน์ อรูปราคะสังโยชน์   มานะสังโยชน์ อุทธัจจะสังโยชน์ และอวิชชาสังโยชน์  แบ่งตามอภิธรรม ๑๐ ประการ คือ กามราคสังโยชน์  ปฏิฆะสังโยชน์  มานะสังโยชน์ ทิฏฐิสังโยชน์   วิจิกิจฉาสังโยชน์  สีลัพพตปรามาสสังโยชน์  ภวราคสังโยชน์  อิสสาสังโยชน์  มัจฉริยสังโยชน์ อวิชชาสังโยชน์   การแบ่งสังโยชน์ทั้งสองนัยนี้ถึงแม้ชื่อสังโยชน์จะต่างกัน แต่สภาวะของสังโยชน์ทำงานอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ในพระไตรปิฎกมีการอธิบายสังโยชน์เชิงอุปมาเพื่อให้เข้าใจลักษณะนามธรรมของสังโยชน์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีการอุปมาสังโยชน์เหมือนบานประตู เหมือนเมฆหมอก เหมือนเชือกผูกลูกวัวที่หลัก เหมือนฝั่งแม่น้ำสองฝั่ง เหมือนระดับความสูงความต่ำ เหมือนเบ็ดเกี่ยวปากปลา เหมือนก้อนหินที่ผูกเท้าสัตว์  เหมือนกิ่งไม้ที่บุคคลใช้มือยึดเกาะไว้ เหมือนห้วงน้ำลึก  อุปมาโอรัมภาคิยสังโยชน์เหมือนกายมนุษย์ที่หยาบ อุปมาอุทธัมภาคิยสังโยชน์เหมือนกายทิพย์ที่ละเอียด   พบว่าขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ของสังโยชน์ ขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์      วิญญาณขันธ์ เป็นธรรมที่ประกอบกับสังโยชน์ หลักธรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนสังโยชน์ คือ     ปฏิจจสมุปบาท มีตัณหาและอุปาทาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้สังโยชน์เกิดขึ้น และยังมีกลุ่มธรรมต่างๆที่ส่งเสริมและสนับสนุนสังโยชน์คือ อาสวะ โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน นีวรณ์ อนุสัย กิเลส  มิจฉัตตะ โลกธรรม มัจฉริยะ วิปลาส อคติ และมูละ กลุ่มธรรมเหล่านี้จะทำงานช่วยให้สังโยชน์มีกำลังผูกมัดมากขึ้น  

ข้อปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ในทางพระพุทธศาสนามีอยู่หลายประการ ส่วนใหญ่เน้นด้านการเจริญจิตตภาวนาโดยใช้สติเป็นที่ตั้งคือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายเอก เป็นวิธีที่จะทำให้สังโยชน์หมดไป กล่าวคือเมื่อบุคคลปฏิบัติตนตามวิธีของ สติปัฏฐาน ๔ โดยมีโพธิปักขิยธรรมคอยเกื้อหนุนแล้วจะทำให้เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา มีทั้งหมด  ๔ ขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์  พระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส พระสกทาคามีละสังโยชน์ ๓ ประการที่พระโสดาบันละได้แล้ว ส่วนที่ทำได้มากกว่าพระโสดาบันคือ การทำให้ กามฉันทะสังโยชน์ และพยาบาทสังโยชน์เบาบางลง  พระอนาคามี ละสังโยชน์ที่พระโสดาบันละได้แล้ว  และละเพิ่มอีก  ๒ ประการคือ กามฉันทะสังโยชน์และพยาบาทสังโยชน์   ส่วนพระอรหันต์ละสังโยชน์ ๕ ประการที่เหลือได้ทั้งหมด คือ  รูปราคะสังโยชน์ อรูปราคะสังโยชน์ มานะสังโยชน์  อุทธัจจะสังโยชน์ และอวิชชาสังโยชน์  เมื่อสังโยชน์หมดไปแล้ว สภาวะของนิพพานก็เข้ามาแทนที่ ทำให้จิตของบุคคลนั้นมีความเป็นอิสระจากสังโยชน์ ไม่มีความวุ่นวาย  ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)        พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) และ              พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ต่างกล่าวถึงสังโยชน์ตามแนวทางในพระไตรปิฎก ส่วนที่แตกต่างไปได้แก่การเปรียบเทียบสักกายทิฏฐิเป็นเหมือนโทรศัพท์ หากไม่รับก็ไม่เกิดปัญหาว่าเป็นตัวตนเราเขา นอกจากนั้นยังกล่าวว่าสังโยชน์ก็คือความบ้า, ความวิปลาส และ ความโง่ซึ่งมาจากสัญชาติญาณของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่เกิดแล้วถูกพัฒนาความโง่เหล่านั้นให้มากขึ้น ๆ จนเต็มไปด้วยอวิชชา หากไม่ควบคุมสังโยชน์จะทำให้ปุถุชนเป็นปุถุชนเกินขั้นจะเป็นบ้าและจะเป็นสัตว์นรก     อนึ่ง สังโยชน์เป็นหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้วัดทักขิไณยบุคคล หรืออริยบุคคล เกณฑ์แบบนี้เป็นการแบ่งแบบลบหมายถึงใช้วิธีดูเอาจากสังโยชน์ที่ละได้ในแต่ละข้อ

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕