หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสมุห์วรวิทย์ ผาสุโก (ดุษฎีพฤฒิพันธุ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๑ ครั้ง
ความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดแพร่ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสมุห์วรวิทย์ ผาสุโก (ดุษฎีพฤฒิพันธุ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
  ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิด ๒) เพื่อศึกษาความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดแพร่ และ ๓) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดแพร่ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยผสมผสานทั้งเชิงคุณภาพ  และปริมาณ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา เอกสารที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๑๘๐ คนจากนั้น นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพและปริมาณ  ผลการศึกษาพบว่า

                 ๑)     ความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุเจดีย์และพระธาตุประจำปีเกิดนั้น เกิดจากแนวคิดและความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ด้านพุทธเจดีย์ และสังเวชนียสถาน ต่อมามีการประยุกต์ใช้ทั้งการสร้างวัตถุธรรม และประเพณีที่เกี่ยวข้องจนกลายเป็นความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดในสังคมไทย  ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติ คือการบูชาด้วยอามิส และการปฏิบัติธรรม

                 ๒)    ผลการศึกษาความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดแพร่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง ๒๑-๓๐ ปี ระดับการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี มีอาชีพอิสระ / ค้าขาย / รับจ้างทั่วไป ด้านรายได้มีระดับรายได้ต่อเดือน ๔,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เคยเข้าร่วมปฏิบัติที่วัดหรือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มาก่อน และมีการรับรู้เรื่องพระธาตุประจำปีเกิดจากหนังสือทางพระพุทธศาสนา ส่วนความรู้ด้านพระพุทธศาสนานั้น ส่วนใหญ่มีความรู้มาก โดยมีความรู้ในด้านบุญ-บาป-กรรมมากที่สุด

                 ด้านความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิด พบว่า ส่วนใหญ่มีความเชื่อในด้านพุทธคุณต่อพระธาตุช่อแฮอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาได้แก่ มีความเชื่อด้านความศักดิ์สิทธิ์ต่อพระธาตุช่อแฮ ส่วนด้านวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิด พบว่า ส่วนใหญ่มีการบูชาด้วยอามิสต่อ  พระธาตุช่อแฮอยู่ในระดับมากที่สุด แต่โดยภาพรวมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการปฏิบัติบูชาต่อ  พระธาตุช่อแฮอยู่ในระดับปานกลาง

                           ๓)          ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล คือ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ ภูมิลำเนา และปัจจัยด้านพระพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา การรับรู้เรื่องพระธาตุประจำปีเกิด ความรู้ด้านประวัติพระพุทธศาสนา และความรู้เรื่องบุญ-บาป-กรรมไม่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดของพทธศาสนิกชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดนั้นมีความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นไปตามประเพณีและความเชื่อของชาวพุทธในสังคมไทย

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕